เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [1. อุรควรรค] 6. ปัญจปุตตขาทิกเปติวัตถุ
[24] ส่วนทักษิณาทานนี้แหละที่ตั้งไว้ดีแล้วในพระสงฆ์
ย่อมสำเร็จประโยชน์เกื้อกูลแก่เปรตนั้นโดยทันทีสิ้นกาลนาน
[25] ญาติธรรม1นี้นั้นท่านแสดงออกแล้ว
การบูชาญาติที่ตายไปท่านทำอย่างยิ่งใหญ่แล้ว
ทั้งกำลังกายของภิกษุท่านก็เพิ่มให้แล้ว
เป็นอันว่าท่านสะสมบุญไว้มิใช่น้อยเลย
ติโรกุฑฑเปตวัตถุที่ 5 จบ

6. ปัญจปุตตขาทิกเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตกินลูกคราวละ 5 ตน
(พระสังฆเถระถามว่า)
[26] เธอเปลือยกาย มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
มีกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งไป
หมู่แมลงวันพากันไต่ตอมเกลื่อนกล่น
เธอเป็นใครกันเล่ามายืนอยู่ในที่นี้
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[27] ท่านผู้เจริญ ดิฉันเกิดเป็นเปรตในยมโลก
ได้รับความลำบาก เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
[28] เวลาเช้า คลอดลูก 5 คน เวลาเย็นอีก 5 คน
แล้วกินลูกเหล่านั้นทั้งหมด
แต่ก็ยังไม่อาจบรรเทาความหิวของดิฉันได้

เชิงอรรถ :
1 ธรรมคือการสงเคราะห์ญาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :172 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [1. อุรควรรค] 7. สัตตปุตตขาทิกเปติวัตถุ
[29] หัวใจของดิฉันถูกความหิวแผดเผาสุมอยู่
ดิฉันไม่ได้ดื่มน้ำที่ควรดื่ม
ขอเชิญท่านดูดิฉันซึ่งถึงความพินาศเช่นนี้เถิด
(พระเถระถามว่า)
[30] เมื่อก่อน เธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรเธอจึงต้องกินเนื้อลูก
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[31] เมื่อก่อน หญิงร่วมสามีของดิฉันคนหนึ่งได้ตั้งครรภ์
ดิฉันได้คิดร้ายต่อเธอ มีใจประทุษร้ายได้ทำให้เธอแท้ง
[32] นางตั้งครรภ์ 2 เดือนเท่านั้นก็ตกเลือด
ครั้งนั้น มารดาของนางโกรธแล้วเชิญญาติของดิฉันมาประชุมซักถาม
ให้ดิฉันสาบาน และขู่เข็ญดิฉันให้กลัว
[33] ส่วนดิฉันนั้นได้กล่าวคำสาบานเท็จอย่างรุนแรงว่า
ถ้าดิฉันทำความชั่วอย่างนี้จริง ขอให้ดิฉันกินเนื้อลูกเถิด
[34] เพราะผลกรรม คือการทำลายสัตว์มีชีวิต
และการกล่าวเท็จทั้ง 2 อย่างนั้น
ดิฉันจึงมีกายเปื้อนหนองและเลือด กินเนื้อลูก
ปัญจปุตตขาทิกเปติวัตถุที่ 6 จบ

7. สัตตปุตตขาทิกเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตกินลูกคราวละ 7 ตน
(พระมหาเถระถามนางเปรตตนหนึ่งว่า)
[35] เธอเปลือยกาย มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
มีกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งไป หมู่แมลงวันพากันไต่ตอมเกลื่อนกล่น
เธอเป็นใครกันเล่ามายืนอยู่ในที่นี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :173 }