เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [1. อุรควรรค] 3. ปูติมุขเปตวัตถุ
2. สูกรมุขเปตวัตถุ
เรื่องเปรตปากหมู
(ท่านพระนารทเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[4] ทั่วทั้งกายของท่านมีสีเหมือนทองคำ
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
แต่ปากของท่านเหมือนปากสุกร
เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมอะไรไว้
(เปรตนั้นตอบว่า)
[5] ท่านพระนารทะ เมื่อก่อนข้าพเจ้าได้สำรวมกาย
แต่ไม่ได้สำรวมวาจา
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงมีรูปร่างและผิวพรรณ
ตามที่ท่านเห็นอยู่นั้น
[6] ท่านนารทะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอบอกท่าน
สรีระของข้าพเจ้านี้ท่านเห็นเองแล้ว
ท่านอย่าได้ทำบาปด้วยปาก
ท่านอย่าได้มีปากเหมือนสุกรเลย
สูกรเปตวัตถุที่ 2 จบ

3. ปูติมุขเปตวัตถุ
เรื่องเปรตปากเน่า
(ท่านพระนารทะถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[7] ท่านมีผิวพรรณงามดังทิพย์ ยืนอยู่ในกลางอากาศ
แต่ปากของท่านมีกลิ่นเหม็น
หมู่หนอนพากันชอนไช เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมอะไรไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :168 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [1. อุรควรรค] 4. ปิฏฐธีตลิกเปยวัตถุ
(เปรตนั้นตอบว่า)
[8] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นสมณะลามก มีวาจาชั่วหยาบ
มีปกติสำรวมกาย แต่ไม่สำรวมปาก
จึงได้มีผิวพรรณดังทองคำเพราะความสำรวมกาย
แต่ปากของข้าพเจ้าเหม็นเน่าเพราะพูดส่อเสียด
[9] ท่านนารทะ รูปร่างของข้าพเจ้าท่านเห็นเองแล้ว
ท่านผู้ฉลาดซึ่งเป็นผู้อนุเคราะห์กล่าวไว้ว่า
ท่านอย่าได้พูดส่อเสียด และอย่าได้พูดมุสา
ท่านจักเป็นเทพผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติที่น่าปรารถนา
ปูติมุขเปตวัตถุที่ 3 จบ

4. ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุ
เรื่องเปรตตุ๊กตาแป้ง
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า)
[10] บุคคลผู้ไม่ตระหนี่ ควรทำเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นอารมณ์
คือ ปรารภบุรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือเทวดาผู้สิงอยู่ในเรือน
[11] หรือท้าวมหาราชทั้ง 4 ผู้รักษาโลก มีบริวารยศ
คือ ท้าวกุเวร ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์
และท้าววิรูฬหก แล้วพึงถวายทาน
ท่านเหล่านั้นเป็นผู้อันบุคคลบูชาแล้ว และทายกก็ไม่ไร้ผล
[12] การร้องไห้ ความเศร้าโศก หรือความร่ำไห้
คร่ำครวญอย่างอื่นใด ไม่ควรทำเลย
เพราะการร้องไห้เป็นต้นนั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ญาติทั้งหลายก็ยังคงสภาพอยู่อย่างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :169 }