เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [2. ปุริสวิมาน] 7. สุนิกขิตตวรรค 10. เสริสสกวิมาน
[1253] ได้มีสมณะนามว่า กุมารกัสสปะ เป็นพหูสูต
ผู้เลิศทางกล่าวธรรมได้อย่างวิจิตรไพเราะ
ครั้งนั้นท่านได้กล่าวธรรมกถาโปรดข้าพเจ้า
ได้ช่วยบรรเทาทิฏฐิที่เป็นข้าศึกทางใจ1ของข้าพเจ้าได้
[1254] ข้าพเจ้าฟังธรรมกถาของท่านนั้นแล้ว ได้ประกาศตนเป็นอุบาสก
งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา
[1255] ข้อนั้นเป็นวัตร และเป็นพรหมจรรย์ของข้าพเจ้า
นี้เป็นวิบากแห่งบุญกรรมนั้นที่ข้าพเจ้าสั่งสมไว้ดีแล้ว
วิมานนี้ข้าพเจ้าได้มาด้วยบุญกรรมอันดีงามนั้นนั่นเอง
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[1256] ทราบมาว่า คนมีปัญญาทั้งหลายพูดแต่คำจริง
คำพูดของบัณฑิตทั้งหลายจึงไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
คนทำบุญไว้จะไปในที่ใดย่อมมีแต่สิ่งที่น่ารักน่าใคร่
บันเทิงอยู่ในที่นั้น
[1257] ณ ที่ใดมีความโศก ความร่ำไห้
การฆ่า การจองจำ และเหตุเกิดเรื่องเลวร้าย2
คนทำบาปไว้ก็จะไปในที่นั้น
ไม่พ้นจากคติที่ชั่วไปได้ ไม่ว่ากาลไหน ๆ
[1258] พ่อกุมาร เพราะเหตุอะไรหนอ
เทพบริวารจึงเป็นเสมือนผู้ฟั่นเฟือนไปในชั่วครู่นี้
เหมือนน้ำใสถูกกวนให้ขุ่น
เพราะเหตุอะไรหนอ เทพบริวารนี้และตัวท่านจึงได้มีความโทมนัส

เชิงอรรถ :
1 มิจฉาทิฏฐิ
2 ความหายนะ (พินาศ) (ขุ.วิ.อ. 1257/403)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :159 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [2. ปุริสวิมาน] 7. สุนิกขิตตวรรค 10. เสริสสกวิมาน
(เทพบุตรตอบว่า)
[1259] พ่อทั้งหลาย กลิ่นทิพย์เหล่านี้โชยกลิ่นหอมระรื่นจากป่าไม้ซึก
หอมตลบอบอวลไปทั่ววิมานนี้
กำจัดความมืดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
[1260] ล่วงไป 100 ปี ฝักไม้ซึกเหล่านี้แต่ละฝักก็จะแตกออก
เป็นที่รู้กันว่า 100 ปีของมนุษย์ล่วงไปแล้ว
ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดในหมู่เทวดานี้
[1261] พ่อทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้เห็นแล้วว่า
ข้าพเจ้าจักดำรงอยู่ในวิมานนี้เพียง 500 ปีทิพย์
แล้วจึงจุติเพราะสิ้นบุญ สิ้นอายุ
ข้าพเจ้าจึงซบเซาเพราะความโศกนั้นนั่นเอง
(พวกพ่อค้ากล่าวว่า)
[1262] ผู้ที่ได้วิมานซึ่งหาที่เปรียบมิได้เป็นเวลานานเช่นนั้น
จะพึงเศร้าโศกไปทำไมเล่า
แต่พวกผู้มีบุญน้อยเข้าอยู่วิมานชั่วเวลาสั้น ๆ
นั้นแหละควรเศร้าโศกแท้
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[1263] พ่อทั้งหลาย ข้อที่ท่านทั้งหลายกล่าววาจาที่น่ารักกับข้าพเจ้า
นั่นเป็นการกล่าวตักเตือนอันสมควรแก่ข้าพเจ้า
ส่วนข้าพเจ้าจะตามคุ้มครองท่านทั้งหลาย
เชิญท่านทั้งหลายไปยังที่ที่ท่านทั้งหลายปรารถนาโดยความสวัสดีเถิด
(พวกพ่อค้ากล่าวว่า)
[1264] ข้าพเจ้าทั้งหลายต้องการทรัพย์ หวังกำไร
จึงพากันไปยังสินธุและโสวีระประเทศ
แล้วจักพยายามค้าขายตามที่ตั้งใจไว้ มีการเสียสละอย่างบริบูรณ์
ทำการบูชาเสริสสกเทพบุตรอย่างโอฬาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :160 }