เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [2. ปุริสวิมาน] 5. มหารถวรรค 13. จูฬรถวิมาน
(พระราชกุมารตรัสถามว่า)
[991] ข้าพเจ้านั้นพึงไปชนบทไหน ทำการงานอะไร
และทำหน้าที่ของบุรุษอย่างไร หรือใช้วิชาอะไร จึงจะไม่แก่ไม่ตาย
(พระมหากัจจายนเถระทูลว่า)
[992] พระราชโอรส ไม่มีสถานที่ที่สัตว์ไปแล้วไม่พึงแก่ไม่พึงตาย
ทั้งการงาน วิชา และหน้าที่ของบุรุษ
ที่สัตว์ทำแล้วจะไม่พึงแก่ไม่พึงตาย ก็ไม่มี
[993] แม้ชนทั้งหลายที่มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก
ถึงจะเป็นกษัตริย์ผู้ครองแว่นแคว้น
มีทรัพย์และธัญญาหารมากมาย
จะไม่แก่ไม่ตาย ก็ไม่มีเลย
[994] ถึงท่านผู้เป็นบุตรของชาวอันธกเวณฑุ ผู้ได้ศึกษาแล้ว
มีความสามารถแกล้วกล้าประหารข้าศึกได้
แม้ท่านเหล่านั้นซึ่งเสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืน
ก็ต้องถึงความสิ้นอายุสลายไป
[995] แม้เหล่าชนที่เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์
ศูทร จัณฑาล ปุกกุสะ และชนประเภทอื่น
โดยชาติกำเนิดซึ่งจะไม่แก่ไม่ตายไม่มี
[996] แม้เหล่าชนผู้ร่ายมนตร์พรหมจินดามีองค์ 61
และเหล่าชนที่ใช้วิชาอื่น ๆ จะไม่แก่ไม่ตาย ก็ไม่มี
[997] อนึ่ง แม้ฤๅษีทั้งหลายผู้สงบ สำรวมตน บำเพ็ญตบะ
ก็ยังต้องละทิ้งร่างกายไปตามกาลอันสมควร

เชิงอรรถ :
1 มนตร์พรหมจินดามีองค์ 6 คือ 1. กัปปะ (ว่าด้วยวิธีเกี่ยวกับการบูชายัญ) 2. พยากรณ์ (แสดงการแยกปกติ)
3. นิรุตติ (แสดงรูปศัพท์ เติมปัจจัย) 4. สิกขา (แสดงฐานกรณ์ และปตยนะของอักษร) 5. ฉันโทวิจิติ
(แสดงลักษณะของฉันท์) 6. โชติสัตถะ (แสดงลักษณะของดวงดาวที่บ่งถึงความเจริญหรือความเสื่อมของ
มนุษย์) (ขุ.วิ.อ. 996/309) เทียบ เวทางคศาสตร์ของพราหมณ์ มี 6 อย่าง คือ 1. ศึกษาวิธีออกเสียง
คำในพระเวทให้ถูกต้อง 2. ไวยากรณ์ 3. ฉันท์ 4. เชยติส คือดาราศาสตร์ 5. นิรุกติ คือกำเนิดของคำ
และ 6. กัลปะ คือวิธีจัดทำพิธี (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หน้า 773)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :122 }