เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 16. ปิยวรรค 1. ตโยชนปัพพชิตวัตถุ
[207] เพราะผู้คบค้าสมาคมกับคนพาล
ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน
การอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นทุกข์ตลอดเวลา
เหมือนอยู่ร่วมกับศัตรู
การอยู่ร่วมกับนักปราชญ์มีแต่ความสุข
เหมือนอยู่ในหมู่ญาติ
[208] เพราะฉะนั้นแล บุคคลควรคบผู้เป็นปราชญ์
มีปัญญา เป็นพหูสูต
มีปกติเอาธุระ มีวัตร1 เป็นพระอริยะ
เป็นสัตบุรุษ มีปัญญาดี เช่นนั้น
เหมือนดวงจันทร์โคจรไปตามทางของดาวนักษัตร ฉะนั้น
สุขวรรคที่ 15 จบ

16. ปิยวรรค
หมวดว่าด้วยสิ่งเป็นที่รัก
1. ตโยชนปัพพชิตวัตถุ
เรื่องบรรพชิต 3 รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บรรพชิต 3 รูป ดังนี้)
[209] บุคคลทำตัวให้หมกมุ่นในกิจที่ไม่ควรหมกมุ่น2
และไม่หมกมุ่นในกิจที่ควรหมกมุ่น
ละเลยสิ่งที่เป็นประโยชน์3 ติดอยู่ในปิยารมณ์4
ทะเยอทะยานตามบุคคลผู้ปฏิบัติตนดี

เชิงอรรถ :
1 มีวัตร หมายถึงมีศีลวัตร และธุดงควัตร 13 ประการ (ขุ.ธ.อ. 6/127)
2 กิจที่ไม่ควรหมกมุ่น หมายถึงการเสพอโคจร 6 อย่าง มีหญิงแพศยาเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 6/130)
3 สิ่งที่เป็นประโยชน์ หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา (ขุ.ธ.อ. 6/130)
4 ปิยารมณ์(อารมณ์ที่น่ารัก) หมายถึงกามคุณ 5 (ขุ.ธ.อ. 6/130)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :97 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 16. ปิยวรรค 3. วิสาขาวัตถุ
[210] ไม่ว่าเวลาใด บุคคลไม่ควรติดพันกับสิ่งเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก
เพราะการไม่เห็นสิ่งเป็นที่รักเป็นทุกข์
การพบเห็นสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์
[211] เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรทำสิ่งไร ๆ ให้เป็นที่รัก
เพราะการพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก เป็นทุกข์ระทม
ผู้ที่ไม่มีสิ่งเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก
ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด

2. อัญญตรกุฏุมพิกวัตถุ
เรื่องกุฎุมพีคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุฎุมพี ดังนี้)
[212] ความโศกเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก ภัยก็เกิดจากสิ่งเป็นที่รัก
ผู้พ้นจากสิ่งเป็นที่รักได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

3. วิสาขาวัตถุ
เรื่องนางวิสาขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางวิสาขามิคารมาตาผู้เศร้าโศกเพราะหลานสาว
ชื่อสุทัตตีเสียชีวิต ดังนี้)
[213] ความโศกเกิดจากความรัก ภัยก็เกิดจากความรัก
ผู้พ้นจากความรักได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :98 }