เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 15. สุขวรรค 2. มารวัตถุ
15. สุขวรรค
หมวดว่าด้วยความสุข
1. ญาติกลหวูปสมนวัตถุ
เรื่องการระงับความทะเลาะของหมู่พระญาติ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระญาติฝ่ายศากยะและโกลิยะ ที่ทะเลาะ
กันเพราะแย่งน้ำทำนา ดังนี้)
[197] ในหมู่มนุษย์ผู้มีเวร
เราเป็นผู้ไม่มีเวร อยู่เป็นสุขจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้มีเวร เราอยู่อย่างไม่มีเวร
[198] ในหมู่มนุษย์ผู้เดือดร้อน1
เราเป็นผู้ไม่เดือดร้อน อยู่เป็นสุขจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้เดือดร้อน เราอยู่อย่างไม่เดือดร้อน
[199] ในหมู่มนุษย์ผู้ขวนขวาย2
เราเป็นผู้ไม่ขวนขวาย อยู่เป็นสุขจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้ขวนขวาย เราอยู่อย่างไม่ขวนขวาย

2. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้มีบาป ดังนี้)
[200] เราไม่มีกิเลสเครื่องกังวล3 อยู่เป็นสุขจริงหนอ
เรามีปีติเป็นภักษา
ดุจทวยเทพชั้นอาภัสระ ฉะนั้น4

เชิงอรรถ :
1 ผู้เดือดร้อน หมายถึงผู้เดือดร้อนเพราะกิเลส (ขุ.ธ.อ. 6/113)
2 ผู้ขวนขวาย หมายถึงผู้มุ่งหากามคุณ 5 (ขุ.ธ.อ. 6/113)
3 กิเลสเครื่องกังวล (กิญจนะ) หมายถึงราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 6/115)
4 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/154/195

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :94 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 15. สุขวรรค 5. อัญญตรอุปาสกวัตถุ
3. โกสลรัญโญปราชยวัตถุ
เรื่องความพ่ายแพ้ของพระเจ้าโกศล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[201] ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้พ่ายแพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์
ผู้ละทั้งความชนะและความพ่ายแพ้ได้แล้ว
มีใจสงบ ย่อมนอนเป็นสุข1

4. อัญญตรกุลทาริกาวัตถุ
เรื่องสาวน้อยในตระกูลหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่สามีของสาวน้อยในตระกูลหนึ่ง ดังนี้)
[202] ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี
โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี
ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี
สุข(อื่น)ยิ่งกว่าความสงบ2ไม่มี

5. อัญญตรอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสกคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[203] ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง3
สังขารทั้งหลาย4เป็นทุกข์อย่างยิ่ง
บัณฑิตรู้เรื่องนี้ตามความเป็นจริงแล้ว
ย่อมทำนิพพานให้แจ้ง
เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/125/148
2 ความสงบ (สันติ) ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 6/117)
3 ความหิว ที่เรียกว่าเป็นโรคอย่างยิ่ง เพราะจะต้องเยียวยารักษาอยู่ตลอดเวลา (ขุ.ธ.อ. 6/116)
4 สังขารทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงขันธ์ 5 (ขุ.ธ.อ. 6/119)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :95 }