เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 14. พุทธวรรค 7. อานันทเถรวัตถุ
6. อัคคิทัตตปุโรหิตวัตถุ
เรื่องอัคคิทัตตปุโรหิต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อัคคิทัตตะผู้ออกบวชเป็นฤๅษีและบริวาร ดังนี้)
[188] มนุษย์จำนวนมาก ผู้ถูกภัยคุกคาม
ต่างถึงภูเขา ป่าไม้ อาราม และรุกขเจดีย์เป็นสรณะ
[189] นั่นมิใช่สรณะอันเกษม นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด
เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง
[190] ส่วนผู้ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ
ย่อมใช้ปัญญาชอบพิจารณาเห็นอริยสัจ 4 ประการ คือ
[191] ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์
และอริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความสงบระงับทุกข์
[192] นั่นเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด
เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น
ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้1

7. อานันทเถรวัตถุ
เรื่องพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[193] บุรุษอาชาไนยหาได้ยาก เพราะว่าท่านไม่เกิดในที่ทั่วไป
ท่านเป็นนักปราชญ์ ไปเกิดในตระกูลใด
ตระกูลนั้นย่อมมีแต่ความสุข

เชิงอรรถ :
1 ทุกข์ทั้งปวง หมายถึงวัฏฏทุกข์ทั้งสิ้น (ขุ.ธ.อ. 6/104)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :92 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 14. พุทธวรรค 9. กัสสปทสพลสุวัณณเจติยวัตถุ
8. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ 500 รูป ดังนี้)
[194] การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นเหตุนำสุขมาให้
การแสดงสัทธรรม เป็นเหตุนำสุขมาให้
ความสามัคคีของหมู่ เป็นเหตุนำสุขมาให้
ความเพียรของคนที่สามัคคีกัน เป็นเหตุนำสุขมาให้

9. กัสสปทสพลสุวัณณเจติยวัตถุ
เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทศพล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[195] บุญของบุคคลผู้บูชาท่านผู้ควรบูชา
คือพระพุทธเจ้า หรือพระสาวก
ผู้ก้าวพ้นธรรมเครื่องเนิ่นช้า1
ผู้ข้ามความโศกและความร่ำไรได้แล้ว
[196] ผู้คงที่ ผู้ดับกิเลสได้แล้ว
ผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
ใคร ๆ ไม่อาจนับได้ว่า
บุญนี้มีประมาณเท่านี้
พุทธวรรคที่ 14 จบ

เชิงอรรถ :
1 ธรรมเครื่องเนิ่นช้า หมายถึงตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.ธ.อ. 6/109)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :93 }