เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 13. โลกวรรค 11. อนาถปิณฑิกปุตตกาลวัตถุ
9. จิญจมาณวิกาวัตถุ
เรื่องนางจิญจมาณวิกา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[176] บุคคลผู้ล่วงละเมิดธรรมอย่างหนึ่ง1
ผู้มักกล่าวเท็จ ปฏิเสธปรโลก
จะไม่ทำบาปไม่มี

10. อสทิสทานวัตถุ
เรื่องอสทิสทาน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลและเหล่าอำมาตย์ ดังนี้)
[177] พวกคนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้เลย
พวกคนพาลไม่สรรเสริญการให้ทาน
ส่วนนักปราชญ์อนุโมทนาการให้ทาน
เพราะเหตุนั้นแล เขาจึงได้รับสุขในปรโลก

11. อนาถปิณฑิกปุตตกาลวัตถุ
เรื่องนายกาละบุตรของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี ดังนี้)
[178] โสดาปัตติผลประเสริฐกว่าความเป็นเอกราชในแผ่นดิน
กว่าการไปสู่สวรรค์ หรือกว่าความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง2
โลกวรรคที่ 13 จบ

เชิงอรรถ :
1 ธรรมอย่างหนึ่ง ในที่นี้หมายถึงสัจจะ (ขุ.ธ.อ.6/9/46)
2 ความเป็นเอกราชในแผ่นดิน การไปสู่สวรรค์ และความเป็นใหญ่ในโลก ยังไม่พ้นจากอบายภูมิมีนรกเป็นต้น
แต่โสดาปัตติผลเป็นธรรมปิดกั้นประตูอบายภูมิได้ (ขุ.ธ.อ. 6/55)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :88 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 14. พุทธวรรค 2. ยมกปาฏิหาริยวัตถุ
14. พุทธวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้า
1. มารธีตาวัตถุ
เรื่องธิดามาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ธิดามาร 3 นาง คือ นางตัณหา นางอรดี
และนางราคา ดังนี้)
[179] กิเลสที่พระพุทธเจ้าพระองค์ใดทรงชนะแล้ว
พระองค์จะไม่ทรงกลับแพ้อีก
กิเลสสักน้อยหนึ่งในโลกไม่ติดตามพระองค์ผู้ชนะได้แล้ว
พวกท่านจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณหาที่สุดมิได้ ผู้ไม่มีร่องรอย1ไปด้วยร่องรอยอะไรเล่า
[180] ตัณหาดุจตาข่าย ชื่อว่า วิสัตติกา2
ไม่มีแก่พระพุทธเจ้าพระองค์ใด เพื่อนำไปในภพไหน ๆ
พวกท่านจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณหาที่สุดมิได้ ผู้ไม่มีร่องรอย ไปด้วยร่องรอยอะไรเล่า

2. ยมกปาฏิหาริยวัตถุ
เรื่องยมกปาฏิหาริย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เทวดาและมนุษย์ที่ประตูสังกัสสนคร ดังนี้)
[181] ท่านผู้เป็นปราชญ์เหล่าใดใฝ่ใจในฌาน ยินดีในเนกขัมมะ3
แม้ทวยเทพก็ชื่นชมท่านผู้เป็นปราชญ์เหล่านั้น
ผู้มีสติ ตรัสรู้เองโดยชอบ

เชิงอรรถ :
1 ร่องรอย ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 6/60)
2 วิสัตติกา หมายถึงตัณหาที่ซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ (ขุ.ธ.อ. 6/60)
3 เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงนิพพานเป็นที่สงบระงับกิเลส (ขุ.ธ.อ. 6/85)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :89 }