เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 13. โลกวรรค 8. ติงสภิกขุวัตถุ
6. อังคุลิมาลเถรวัตถุ
เรื่องพระองคุลิมาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[173] บาปกรรมที่ทำไว้ ผู้ใดละเสียได้ด้วยกุศล1
ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น

7. เปสการธีตาวัตถุ
เรื่องธิดานายช่างหูก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ธิดาของนายช่างหูก ดังนี้)
[174] โลกนี้มืดมน2 คนในโลกนี้น้อยคนนักจักเห็นแจ้ง
น้อยคนนักจักไปสวรรค์3
เหมือนนกติดข่าย น้อยตัวนักที่จะพ้นจากข่าย ฉะนั้น

8. ติงสภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ 30 รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[175] ฝูงหงส์บินไปทางดวงอาทิตย์4ได้
ท่านที่เจริญอิทธิบาทดีแล้ว ไปทางอากาศด้วยฤทธิ์ได้
ส่วนนักปราชญ์ทั้งหลายชนะมารพร้อมทั้งพาหนะได้แล้ว
ย่อมออกไปจากโลกได้5

เชิงอรรถ :
1 กุศล ในที่นี้หมายถึงอรหัตตมรรค (ขุ.ธ.อ. 6/35) และดูเทียบ ม.ม. (แปล) 13/352/430, ขุ.เถร. (แปล)
26/872/483
2 โลกนี้มืดมน หมายถึงโลกิยมหาชนในโลกนี้ เป็นผู้มืดบอด เพราะไม่มีปัญญาจักษุ (ขุ.ธ.อ. 6/39)
3 หมายถึงมีน้อยคนที่จะเห็นแจ้งไตรลักษณ์ ที่จะไปสุคติภูมิ หรือที่จะบรรลุนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 6/7/39)
4 ทางดวงอาทิตย์ หมายถึงทางอากาศ (ขุ.ธ.อ. 6/41)
5 ออกไปจากโลก ในที่นี้หมายถึงออกไปจากวัฏฏะ กล่าวคือบรรลุนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 6/42)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :87 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 13. โลกวรรค 11. อนาถปิณฑิกปุตตกาลวัตถุ
9. จิญจมาณวิกาวัตถุ
เรื่องนางจิญจมาณวิกา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[176] บุคคลผู้ล่วงละเมิดธรรมอย่างหนึ่ง1
ผู้มักกล่าวเท็จ ปฏิเสธปรโลก
จะไม่ทำบาปไม่มี

10. อสทิสทานวัตถุ
เรื่องอสทิสทาน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลและเหล่าอำมาตย์ ดังนี้)
[177] พวกคนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้เลย
พวกคนพาลไม่สรรเสริญการให้ทาน
ส่วนนักปราชญ์อนุโมทนาการให้ทาน
เพราะเหตุนั้นแล เขาจึงได้รับสุขในปรโลก

11. อนาถปิณฑิกปุตตกาลวัตถุ
เรื่องนายกาละบุตรของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี ดังนี้)
[178] โสดาปัตติผลประเสริฐกว่าความเป็นเอกราชในแผ่นดิน
กว่าการไปสู่สวรรค์ หรือกว่าความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง2
โลกวรรคที่ 13 จบ

เชิงอรรถ :
1 ธรรมอย่างหนึ่ง ในที่นี้หมายถึงสัจจะ (ขุ.ธ.อ.6/9/46)
2 ความเป็นเอกราชในแผ่นดิน การไปสู่สวรรค์ และความเป็นใหญ่ในโลก ยังไม่พ้นจากอบายภูมิมีนรกเป็นต้น
แต่โสดาปัตติผลเป็นธรรมปิดกั้นประตูอบายภูมิได้ (ขุ.ธ.อ. 6/55)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :88 }