เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 12. อัตตวรรค 8. กาลเถรวัตถุ
6. เทวทัตตวัตถุ
เรื่องพระเทวทัต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[162] ความทุศีลโดยสิ้นเชิง1
ย่อมรึงรัดอัตภาพของบุคคลผู้ทุศีลไว้
ดุจเถาวัลย์ที่รึงรัดต้นสาละไว้
เขาย่อมทำตนให้วิบัติดุจโจรปรารถนาให้เขาวิบัติ ฉะนั้น

7. สังฆเภทปริสักกนวัตถุ
เรื่องความพยายามเพื่อทำลายสงฆ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนท์ปรารภถึงพระเทวทัต ดังนี้)
[163] กรรมที่ไม่ดี และไม่มีประโยชน์แก่ตน ทำได้ง่าย
ส่วนกรรมที่ดี และมีประโยชน์ ทำได้ยากอย่างยิ่ง

8. กาลเถรวัตถุ
เรื่องพระกาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระกาลเถระและชนทั้งหลาย ดังนี้)
[164] ผู้มีปัญญาทราม อาศัยทิฏฐิชั่ว
คัดค้านคำสอนของพระอริยะ
ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้ดำรงอยู่โดยธรรม
การคัดค้านและทิฏฐิชั่วนั้น
เกิดขึ้นมาเพื่อทำลายตนเอง
เหมือนขุยไผ่ทำลายต้นไผ่ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ความทุศีลโดยสิ้นเชิง ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยทวารทั้ง 6 (ขุ.ธ.อ. 6/19)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :83 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 12. อัตตวรรค 10. อัตตทัตถเถรวัตถุ
9. จูฬกาลอุปาสกวัตถุ
เรื่องจูฬกาลอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่จูฬกาลอุบาสก ดังนี้)
[165] ตนทำบาปกรรมเอง ก็เศร้าหมองเอง1
ตนไม่ทำบาปกรรมเอง ก็บริสุทธิ์เอง
ความบริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตน
คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้2

10. อัตตทัตถเถรวัตถุ
เรื่องพระอัตตทัตถเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอัตตทัตถเถระ ดังนี้)
[166] บุคคลไม่ควรให้ประโยชน์ตน3เสียไป
เพราะประโยชน์คนอื่นแม้มาก
เมื่อรู้ประโยชน์ตนแล้ว
ก็ควรขวนขวายในประโยชน์ตน
อัตตวรรคที่ 12 จบ

เชิงอรรถ :
1 เศร้าหมองเอง หมายถึงเสวยทุกข์ในอบาย คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย (ขุ.ธ.อ. 6/23)
2 ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) 29/8/41, ขุ.จู. (แปล) 30/33/166, อภิ.ก. 37/743/435-436
3 ประโยชน์ตน หมายถึงอริยผล ในที่นี้ ตรัสมุ่งกัมมัฏฐานเป็นหลัก (ขุ.ธ.อ. 6/25)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :84 }