เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 11. ชราวรรค 8. ปฐมโพธิวัตถุ
6. มัลลิกาเทวีวัตถุ
เรื่องพระนางมัลลิกาเทวี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เสียพระทัยเพราะ
การจากไปของพระนางมัลลิกาเทวี ดังนี้)
[151] ราชรถอันวิจิตรงดงาม ยังชำรุดได้
แม้แต่ร่างกายนี้ ก็ยังเข้าถึงชราได้
แต่ธรรมของสัตบุรุษ1หาเข้าถึงชราไม่
สัตบุรุษกับสัตบุรุษรู้กันได้อย่างนี้2

7. โลลุทายิเถรวัตถุ
เรื่องพระโลลุทายีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[152] คนที่มีการศึกษาน้อยนี้
ย่อมแก่ไปเปล่าเหมือนโคพลิพัท
เขาเจริญแต่เนื้อหนัง ส่วนปัญญาหาเจริญไม่3

8. ปฐมโพธิวัตถุ
เรื่องเหตุการณ์คราวแรกตรัสรู้
(พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทาน ดังนี้)
[153] เราตามหานายช่าง4ผู้สร้างเรือน5 เมื่อไม่พบ6
จึงท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นอเนกชาติ
เพราะการเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์

เชิงอรรถ :
1 ธรรมของสัตบุรุษ หมายถึงโลกุตตรธรรม 9 (มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1) (ขุ.ธ.อ. 5/101)
2 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/114/131, ขุ.ชา. (แปล) 28/413/166
3 ขุ.เถร. (แปล) 26/1028/508
4 นายช่าง ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. 5/105)
5 เรือน ในที่นี้หมายถึงอัตภาพ (ขุ.ธ.อ. 5/105)
6 เมื่อไม่พบ ในที่นี้หมายถึงไม่พบโพธิญาณ (ขุ.ธ.อ. 5/105)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :79 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 11. ชราวรรค 9. มหาธนเสฏฐิปุตตวัตถุ
[154] นายช่างเอ๋ย เราพบท่านแล้ว1
ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีก
ซี่โครง2ทุกซี่ของท่าน เราหักแล้ว
ยอดเรือน3เราก็รื้อแล้ว
จิตของเราถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว
เราได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว4

9. มหาธนเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภบุตรเศรษฐีผู้ใช้สอยทรัพย์สมบัติจนหมด จึงตรัส
พระคาถานี้แก่พระอานนท์ ดังนี้)
[155] พวกคนโง่เขลาไม่ประพฤติตนให้เป็นคนดี
ในวัยหนุ่มสาวก็ไม่ได้หาทรัพย์ไว้ ย่อมซบเซา
เหมือนนกกระเรียนแก่ซบเซาอยู่ที่เปือกตมไร้ปลา ฉะนั้น
[156] พวกคนโง่เขลาไม่ประพฤติตนให้เป็นคนดี
ในวัยหนุ่มสาวก็ไม่ได้หาทรัพย์ไว้
ย่อมนอนรำพึงถึงความหลัง
ดุจลูกธนูที่พ้นจากแล่ง ฉะนั้น
ชราวรรคที่ 11 จบ

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงพบตัณหานั้นได้ด้วยความรู้แจ้งพระสัพพัญญุตญาณ (ขุ.ธ.อ. 5/106)
2 ซี่โครง ในที่นี้หมายถึงกิเลสเหล่าอื่นทั้งหมด (ขุ.ธ.อ. 5/106)
3 ยอดเรือน ในที่นี้หมายถึงอวิชชา ( ขุ.ธ.อ. 5/106)
4 พระคาถานี้จัดเป็นปฐมพุทธพจน์ (วิ.อ. 1/17)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :80 }