เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] ปารายนานุคีติคาถา
[1151] อาตมภาพชราแล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย
เพราะเหตุนั้นแล ร่างกายจึงไปในสถานที่
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ไม่ได้
แต่อาตมภาพไปเฝ้าพระองค์เป็นนิตย์ โดยการไปด้วยความดำริ
ท่านพราหมณ์ เพราะว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่กับสถานที่
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่นั้น
[1152] อาตมภาพนอนดิ้นรนอยู่ในเปือกตม1
ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่อีกเกาะหนึ่ง2
ครั้นต่อมา อาตมภาพได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ
[1153] (พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสดังนี้)
วักกลิ ภัทราวุธ และอาฬวิโคดม
เป็นผู้มีศรัทธาน้อมไปแล้ว ฉันใด
แม้เธอก็จงปล่อยวางศรัทธา ฉันนั้นเหมือนกัน
ปิงคิยะ เธอจักถึงฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช
[1154] (ท่านพระปิงคิยะกราบทูลดังนี้)
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้วเลื่อมใสอย่างยิ่ง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีกิเลสเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ไม่ทรงมีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ ทรงมีปฏิภาณ

เชิงอรรถ :
1 เปือกตม ในที่นี้หมายถึงกาม (ขุ.จู. (แปล) 30/116/380)
2 ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง หมายถึงละจากคำสอนของศาสดาหนึ่งไปหาคำสอนของศาสดาหนึ่ง
(ขุ.จู. (แปล) 30/116/382)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :779 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา สรุปคาถาที่มีในสุตตนิบาต
[1155] พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดอธิเทพ1
ทรงรู้ธรรมที่ทำความเป็นอธิเทพของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง
ผู้ทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย
เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัยให้กลับรู้ได้
[1156] สภาวะใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ
ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้
ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล
ปารายนวรรคที่ 5 จบ

สุตตุททานคาถา
สรุปคาถาที่มีในสุตตนิบาต
(1-2) ในวรรคที่ 1 มี

1. อุรคสูตร 2. ธนิยสูตร 3. ขัคควิสาณสูตร
4. กสิภารทวาชสูตร 5. จุนทสูตร 6. ปราภวสูตร
7. วสลสูตร 8. เมตตสูตร 9. เหมวตสูตร
10. อาฬวกสูตร 11. วิชยสูตร 12. มุนิสูตร


เชิงอรรถ :
1 อธิเทพ หมายถึงเทพ 3 จำพวก คือ (1) สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชา พระราชกุมาร
พระราชเทวี (2) อุปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ เทวดาชั้นจาตุมหาราช เป็นต้น (3) วิสุทธิเทพ
เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ พระตถาคต สาวกของพระตถาคต พระอรหันตขีณาสพ พระปัจเจกพุทธเจ้า
(ขุ.จู. (แปล) 30/119/387-388)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :780 }