เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 14. โปสาลมาณวกปัญหา
[1120] ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ
ของบุคคลผู้ไม่มีรูปสัญญา1 ผู้ละรูปกายได้ทั้งหมด
ผู้พิจารณาทั้งภายในและภายนอกเห็นว่าไม่มีอะไร
บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ควรแนะนำอย่างไร
[1121] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โปสาละ)
ตถาคตรู้ยิ่งซึ่งวิญญาณัฏฐิติ2ทั้งหมด
รู้จักบุคคลนั้นผู้ดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้ว
ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย
[1122] บุคคลนั้นรู้กัมมาภิสังขาร3ว่า เป็นเหตุเกิด
แห่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ
รู้อรูปราคะว่า มีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้
ครั้นรู้กรรมอย่างนี้แล้ว ออกจากสมาบัตินั้น
เห็นแจ้งธรรมที่เกิดในสมาบัตินั้น
ญาณนี้ของพราหมณ์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์
เป็นญาณอันแท้จริง
โปสาลมาณวกปัญหาที่ 14 จบ

เชิงอรรถ :
1 ผู้ไม่มีรูปสัญญา หมายถึงผู้ได้อรูปสมาบัติ 4 (ขู.จู. (แปล) 30/82/287)
2 วิญญาณัฏฐิติ คือ ภูมิอันเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณัฏฐิติ 4 และวิญญาณัฏฐิติ 7
(ขุ.จู. (แปล) 30/83/289-290)
3 กัมมาภิสังขาร ในที่นี้หมายถึงอาเนญชาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศล-
เจตนาที่เป็นอรูปาวจร 4 หมายถึง ภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ (ขุ.จู.อ. 84/69)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :771 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 15. โมฆราชมาณวกปัญหา
15. โมฆราชมาณวกปัญหา1
ว่าด้วยปัญหาของโมฆราชมาณพ
[1123] (โมฆราชมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ 2 ครั้งแล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ มิได้ตรัสตอบแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์รับทราบมาว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี
(ถ้าผู้ใดถามปัญหา) ถึง 3 ครั้ง จะตรัสตอบ
[1124] โลกนี้2 โลกอื่น3 พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ย่อมไม่ทราบชัดความเห็นของพระองค์
ผู้โคตมโคตร ผู้มีพระยศ
[1125] ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ทรงมีปกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงไม่เห็น
[1126] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
โมฆราช เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า4
มีสติทุกเมื่อ พึงถอนอัตตานุทิฏฐิ5เสีย
เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น
โมฆราชมาณวกปัญหาที่ 15 จบ

เชิงอรรถ :
1 ขุ.จู. (แปล) 30/141-144/33-34
2 โลกนี้ ในที่นี้หมายถึงมนุษยโลก (ขุ.จู. (แปล) 30/86/307)
3 โลกอื่น หมายถึงโลกอื่นทั้งหมด เว้นมนุษยโลก (ขุ.จู. (แปล) 30/86/307)
4 พิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า หมายถึงพิจารณาโลก คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปตวิสัย
มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก และพรหมโลกด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ (1) ด้วยการ
กำหนดเห็นสังขารไม่เป็นไปตามอำนาจ (2) ด้วยการพิจารณาเห็นสังขารเป็นของว่างเปล่า (ขุ.จู. (แปล)
30/88/309-320, ขุ.สุ.อ. 2/1126/453)
5 อัตตานุทิฏฐิ หมายถึงสักกาทิฏฐิ (ขุ.จู. 2/1126/453)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :772 }