เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 11. ชราวรรค 2. สิริมาวัตถุ
11. ชราวรรค
หมวดว่าด้วยความชรา
1. วิสาขาสหายิกาวัตถุ
เรื่องหญิงสหายของนางวิสาขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่หญิงประมาณ 500 คน ดังนี้)
[146] เมื่อโลกลุกเป็นไฟ1อยู่เป็นนิตย์
ทำไมจึงมัวหัวเราะร่าเริงกันอยู่เล่า
เธอทั้งหลายถูกความมืด2ปกคลุม
ไฉนไม่แสวงหาดวงประทีป3กันเล่า

2. สิริมาวัตถุ
เรื่องนางสิริมา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท 4 ที่มุงดูศพนางสิริมา ดังนี้)
[147] จงดูอัตภาพที่ตกแต่งอย่างสวยงาม
แต่มีกายเป็นแผล4 มีกระดูกเป็นโครงร่าง5
อันกระสับกระส่าย ที่มหาชนดำริหวังกันมาก6
ซึ่งไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น

เชิงอรรถ :
1 โลกลุกเป็นไฟ หมายถึงโลกสันนิวาส (โลกคือหมู่สัตว์) ถูกไฟ 11 กอง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ชาติ ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส แผดเผาอยู่เป็นนิตย์ (ขุ.ธ.อ. 5/85) และดู วิ.ม. (แปล)
4/54/63, สํ.สฬา. (แปล) 18/28/27 ประกอบ
2 ความมืด หมายถึงอวิชชา (ขุ.ธ.อ. 5/85)
3 ดวงประทีป หมายถึงแสงสว่างคือญาณ (ขุ.ธ.อ. 5/85)
4 มีกายเป็นแผล หมายถึงมีทวาร 9 (ขุ.ธ.อ.5/90)
5 มีกระดูกเป็นโครงร่าง หมายถึงมีกระดูก 300 ท่อนเป็นโครงร่าง (ขุ.ธ.อ.5/90)
6 ดูเทียบ ม.ม. (แปล) 13/302/359, ขุ.เถร. (แปล) 26/769/468, 1160/530

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :77 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 11. ชราวรรค 5. ชนปทกัลยาณีรูปนันทาเถรีวัตถุ
3. อุตตราเถรีวัตถุ
เรื่องพระอุตตราเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอุตตราเถรีผู้มีอายุ 120 ปี ดังนี้)
[148] ร่างกายนี้แก่หง่อมแล้ว
เป็นรังของโรค มีแต่จะทรุดโทรมลงไป
ร่างกายที่เน่าเปื่อยนี้ก็จะแตกดับไป
เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด

4. อธิมานิกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เข้าใจว่าตนสำเร็จ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายที่กำลังดูซากศพในป่าช้า ดังนี้)
[149] กระดูกเหล่านี้มีสีเหมือนสีนกพิราบ
ถูกเขาทิ้งไว้เกลื่อนกลาด
เหมือนน้ำเต้าที่ร่วงเกลื่อนกลาดในสารทกาล1
ความยินดีอะไรเล่าจะเกิด เพราะเห็นกระดูกเหล่านั้น

5. ชนปทกัลยาณีรูปนันทาเถรีวัตถุ
เรื่องพระรูปนันทาเถรีผู้งามในรัฐ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระรูปนันทาเถรีผู้สำคัญตนว่างาม ดังนี้)
[150] ร่างกายนี้ถูกสร้างให้เป็นนครแห่งกระดูก
ฉาบด้วยเนื้อและเลือด เป็นที่สถิตแห่งความแก่
ความตาย ความถือตัว และความลบหลู่กัน

เชิงอรรถ :
1 สารทกาล หมายถึงฤดูใบไม้ร่วง ฤดูสารท เทศกาลทำบุญสิ้นเดือน 10 (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.2525)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :78 }