เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 7. นันทมาณวกปัญหา
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่
ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ
[1079] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
บุคคลใดเป็นผู้ปราศจากราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว
ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้
[1080] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานนับปีไม่ได้ไซร้
บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
มีความสงบเย็นอยู่ในพรหมโลกนั่นนั้นแลหรือ
หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก
[1081] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป
ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ ฉันใด
มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมดับไป
กำหนดไม่ได้ ฉันนั้น
[1082] (ท่านอุปสีวะทูลถามดังนี้)
มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี
หรือว่าไม่แตกทำลาย เพราะมีความแน่แท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :758 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 7. นันทมาณวกปัญหา
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสตอบปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว
[1083] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
มุนีผู้ถึงความสลายไปย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ
ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด
กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น
(เพราะ)เมื่อมุนีนั้นถอนธรรม1ทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว
แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวงท่านก็ถอนได้เด็ดขาดแล้ว
อุปสีวมาณวกปัญหาที่ 6 จบ

7. นันทมาณวกปัญหา2
ว่าด้วยปัญหาของนันทมาณพ
[1084] (นันทมาณพทูลถามดังนี้)
ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก
คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร
ชนทั้งหลายย่อมเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณ3
หรือว่าย่อมเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่4ว่า เป็นมุนี

เชิงอรรถ :
1 ธรรม ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะ คติ เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล) 30/45/193)
2 ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) 30/102-108/22-24
3 ผู้เป็นไปด้วยญาณ หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยญาณในสมาบัติ 8 หรือ ญาณในอภิญญา 5 (ขุ.จู. (แปล)
30/46/196)
4 ผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยความเพียรของบุคคลผู้ดำเนินชีวิตเศร้าหมอง ผู้ทำ
กิจที่ทำได้ยากยิ่งหลายอย่าง (ขุ.จู. (แปล) 30/46/196)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :759 }