เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 5. โธตกมาณวกปัญหา
[1073] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
บุคคลผู้รู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
เราจักกล่าวความสงบนั้นที่เรารู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้วแก่เธอ
[1074] (โธตกมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจความสงบอันสูงสุดนั้น
ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
[1075] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง
เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่า เป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย
โธตกมาณวกปัญหาที่ 5 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :756 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 6. อุปสีวมาณวกปัญหา
6. อุปสีวมาณวกปัญหา1
ว่าด้วยปัญหาของอุปสีวมาณพ
[1076] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว
ไม่ได้อาศัย(ใคร ๆ หรือสิ่งใด ๆ)
จึงไม่สามารถข้ามห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่2ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์
ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้
[1077] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ‘ไม่มีอะไร’ ดังนี้แล้วก็จะข้ามห้วงกิเลสได้
เธอจงละกามทั้งหลาย เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย
พิจารณาดูความสิ้นตัณหาทั้งคืนทั้งวัน
[1078] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้)
บุคคลใดเป็นผู้ปราศจากราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น3อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง4

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) 30/94-101/20-22
2 ห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ หมายถึงโอฆะ 4 คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.จู. (แปล) 30/38/177)
3 ละสมาบัติอื่น ในที่นี้หมายถึงละสมาบัติ 6 เบื้องต่ำ (รูปฌาน 4 อรูปฌาน 2) (ขุ.จู. (แปล) 30/40/184,
ขุ.สุ.อ. 2/1078/442)
4 สัญญาวิโมกข์ หมายถึงสัญญาสมาบัติ คุณธรรมชั้นสูงที่บุคคลบรรลุ มี 7 ประการ ได้แก่ รูปฌาน 4
อรูปฌาน 3 (ยกเว้นเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ) (ขุ.จู. (แปล) 30/40/184, ขุ.สุ.อ. 2/1078/442)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :757 }