เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 4. เมตตคูมาณวกปัญหา
[1059] (เมตตคูมาณพทูลถามดังนี้)
พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นด้วยเถิด
นักปราชญ์ทั้งหลายจะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสตอบปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว
[1060] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตตคู)
บุคคลรู้ชัดธรรม1ใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
เราจักกล่าวธรรมที่ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้วแก่เธอ
[1061] (เมตตคูมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุดนั้นที่บุคคลรู้ชัดแล้ว
มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
[1062] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตตคู)
เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง
เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือมั่น

เชิงอรรถ :
1 ธรรม ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. 2/1060/439)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :752 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 4. เมตตคูมาณวกปัญหา
และวิญญาณในธรรมเหล่านั้นเสีย
ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ1
[1063] ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท รู้แจ้ง
ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้วเที่ยวไปอยู่
พึงละชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะ
อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน
[1064] (เมตตคูมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระองค์
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่
เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว
[1065] พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน
แม้ชนเหล่านั้นก็พึงละทุกข์ได้เป็นแน่
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์มาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ
ขอนมัสการพระองค์ (โดยหวังว่า) พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง
[1066] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง2
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ หมดความสงสัยแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ภพ มี 2 คือ (1) กรรมภพ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร (2) ภพใหม่
อันมีในปฏิสนธิ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขุ.จู. (แปล) 30/24/138)
2 ฝั่ง ในที่นี้หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.จู. (แปล) 30/28/150)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :753 }