เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 3. ปุณณกมาณวกปัญหา
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[1053] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ
เพราะอาศัยลาภจึงมุ่งหวังกาม
เรากล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ
ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้
[1054] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ถ้าชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลกข้ามชาติและชราได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[1055] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ
เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้น1ในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน2 ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่า ข้ามชาติและชราได้แล้ว3
ปุณณกมาณวกปัญหาที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 ฝั่งนี้และฝั่งโน้น ในที่นี้หมายถึงอัตภาพของตนและอัตภาพของผู้อื่น (องฺ.ติก.อ. 2/32/114, ขุ.จู. (แปล)
30/17/104)
2 ควัน หมายถึงความประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ (องฺ.ติก.อ. 2/32/114, ขุ.จู. (แปล) 30/17/105)
3 ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) 20/32/185, องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/41/70, ขุ.จู. (แปล) 30/17/103

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :750 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 4. เมตตคูมาณวกปัญหา
4. เมตตคูมาณวกปัญหา1
ว่าด้วยปัญหาของเมตตคูมาณพ
[1056] (เมตตคูมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหา
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า
ทรงเป็นผู้จบเวท2 ทรงอบรมพระองค์แล้ว
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากที่ไหนหนอ
[1057] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่รู้
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลกนี้
ล้วนเกิดมาแต่อุปธิ3เป็นต้นเหตุ
[1058] ผู้ใดแลไม่มีปัญญา ก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่า เป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้ชัดอยู่
เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า มีชาติเป็นแดนเกิด
ไม่ควรก่ออุปธิ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) 30/74-85/15-18
2 เวท ในที่นี้หมายถึงญาณ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ฯลฯ วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิในมรรคทั้ง 4 (ขุ.จู. (แปล)
30/18/114)
3 อุปธิ มี 10 อย่าง (1) อุปธิคือตัณหา (2) อุปธิคือทิฏฐิ (3) อุปธิคือกิเลส (4) อุปธิคือกรรม (5) อุปธิคือ
ทุจริต (6) อุปธิคืออาหาร (7) อุปธิคือปฏิฆะ (8) อุปธิคืออุปาทินนธาตุ 4 (9) อุปธิคืออายตนะภายใน 6
(9) อุปธิคืออายตนะภายนอก 6 (10) อุปธิคือหมวดวิญญาณ 6 (ขุ.จู. (แปล) 30/19/121)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :751 }