เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
เป็นผู้ทรงปัญญาปราดเปรื่อง
เคยอบรมวาสนาแต่ชาติปางก่อน1ทั้งนั้น
[1017] ทุกคนเกล้าชฎาและครองหนังเสือ
อภิวาทพราหมณ์พาวรีและทำประทักษิณแล้ว
ต่างออกเดินทาง มุ่งหน้าไปทางทิศอุดร
[1018] สู่สถานเป็นที่ตั้งแคว้นอุฬกะ เมืองมาหิสสติในกาลนั้น
กรุงอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสา เมืองวนสวหยะ2
[1019] กรุงโกสัมพี เมืองสาเกต กรุงสาวัตถีอันอุดม
เมืองเสตัพยะ กรุงกบิลพัสดุ์ กรุงกุสินารา
[1020] กรุงปาวา โภคนคร กรุงเวสาลี แคว้นมคธ
และปาสาณกเจดีย์อันรื่นรมย์ น่ารื่นเริงใจ
[1021] พราหมณ์เหล่านั้นรีบขึ้นสู่ภูเขา
เหมือนคนกระหายน้ำ รีบหาน้ำเย็นดื่ม
เหมือนพ่อค้าได้ลาภใหญ่มาครอง
และเหมือนคนถูกความร้อนแผดเผารีบหาร่มเงา ฉะนั้น
[1022] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม
ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่
ประหนึ่งว่าราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่ในป่า

เชิงอรรถ :
1 มาณพ 16 คนนี้ได้เคยบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ แล้วอบรมจิตเพื่อเป็นบุญ
วาสนาที่จะติดตามตัวไป (ขุ.สุ.อ. 2/1013-18/430)
2 วนสวหยะ มีชื่อ 2 ชื่อ คือ (1) ปวนนคร (2) วนสาวัตถี (ขุ.สุ.อ. 2/1013-18/430)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :741 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[1023] อชิตมาณพได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์อันมีรัศมีเจิดจ้า
และดุจดวงจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญ ฉะนั้น
[1024] ลำดับนั้น อชิตมาณพยืนอยู่ ณ ที่สมควร
รื่นเริงใจเพราะได้เห็นอนุพยัญชนะ
บริบูรณ์ในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค
จึงได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่า
[1025] (อชิตมาณพทูลถามปัญหาทางใจว่า)
ขอพระองค์ตรัสระบุให้แน่ชัด
ถึงชาติ โคตรพร้อมด้วยลักษณะ
ขอจงตรัสบอกความสำเร็จในมนตร์ทั้งหลายว่า
พราหมณ์สอนมาณพเท่าไร
[1026] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นมีอายุ 120 ปี
ชื่อพาวรีโดยโคตร มีลักษณะ 3 อย่างอยู่ในตัว
เป็นผู้เรียนจบไตรเพท
[1027] พราหมณ์พาวรีนั้นถึงความสำเร็จ
ในลักษณะมนตร์ และประวัติศาสตร์1
พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์2 และเกฏุภศาสตร์3

เชิงอรรถ :
1 ประวัติศาสตร์ คือ พงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้
2 นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพท์มูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (lexicon) หรือภิธานศัพท์ (Glossary)
ที่รวบรวมคำศัพท์ ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก หรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมายเป็นส่วนหนึ่ง
ของนิรุกติ ซึ่งเป็น 1 ในเวทางคศาสตร์ 6 ของศาสนาพราหมณ์ (ที.สี.อ. 1/256/222, ขุ.จู.อ. 15/14)
3 เกฏุภศาสตร์ คัมภีร์ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นส่วน
หนึ่งของกัลปะ ซึ่งเป็น 1 ในเวทางคศาสตร์ 6 ของศาสนาพราหมณ์ (ที.สี.อ. 1/256/222, ขุ.จู.อ. 15/14)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :742 }