เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 16. สารีปุตตสูตร
ของผู้ถือธรรมอื่นเหล่านั้น ก็ไม่พึงหวาดกลัว
อนึ่ง ภิกษุผู้หมั่นแสวงหากุศลธรรม
พึงปราบปรามอันตรายอื่น ๆ
[973] ภิกษุถูกผัสสะแห่งความเจ็บป่วยและความหิวกระทบแล้ว
พึงอดกลั้นความหนาว หรือความร้อน
ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้ว
โดยอาการมากอย่าง ก็ไม่ให้โอกาส
พึงทำความเพียรและความบากบั่นให้มั่นคง
[974] ภิกษุไม่พึงขโมย ไม่พึงพูดเท็จ
พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้ยังหวาดสะดุ้ง และผู้มั่นคง
เมื่อใด ภิกษุรู้แจ้งความขุ่นมัวแห่งใจ
เมื่อนั้น เธอพึงบรรเทาด้วยมนสิการว่า
นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ
[975] ภิกษุไม่พึงลุอำนาจแห่งความโกรธและความดูหมิ่น
ทั้งพึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นเหล่านั้นดำรงอยู่
แต่เมื่อจะกำราบ ก็พึงครอบงำสัตว์หรือสังขาร
ที่เป็นที่รักหรือไม่เป็นที่รักโดยแท้
[976] ภิกษุผู้มีปีติในเรื่องดีงาม พึงเชิดชูปัญญา
พึงข่มอันตรายเหล่านั้น พึงปราบความไม่ยินดีในที่นั่งที่นอนอันสงัด
ทั้งปราบธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญ 4 ประการ
[977] เราจักฉันอะไรเล่า หรือจักฉันที่ไหน
คืนนี้เรานอนลำบากแล้วหนอ เราจักนอนที่ไหนเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :732 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 16. สารีปุตตสูตร
ภิกษุผู้เป็นเสขะพึงกำจัดวิตกอันเป็นที่ตั้ง
แห่งความคร่ำครวญเหล่านี้ เป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป
[978] ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้
ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว
พึงรู้จักประมาณเพื่อสันโดษ
ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น
เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน
แม้ถูกด่า ก็ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ
[979] ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ตื่นอยู่โดยมาก
ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่น
พึงเข้าไปตัดความตรึกธรรม
ที่อาศัยความตรึกและความคะนอง
[980] ภิกษุถูกผู้ตักเตือนด้วยวาจา พึงมีสติชื่นชม
ทำลายความกระด้างในเพื่อนพรหมจารี
พึงเปล่งวาจาเป็นกุศล
ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต
ไม่พึงคิดหาเรื่องที่จะว่ากล่าวคน
[981] ลำดับต่อไป ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ
ศึกษาเพื่อกำจัดธุลี 5 อย่างในโลก
คือพึงปราบปรามราคะในรูป ราคะในเสียง ราคะในกลิ่น
ราคะในรส และราคะในผัสสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :733 }