เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสูตร
[941] ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำ1ไม่ถูกครอบงำ
ได้เห็นธรรมที่เป็นพยานซึ่งไม่ต้องเชื่อใคร
เพราะฉะนั้น เธอพึงเป็นผู้ไม่ประมาท
ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
นอบน้อมอยู่ พึงหมั่นศึกษาทุกเมื่อ
ตุวฏกสูตรที่ 14 จบ

15. อัตตทัณฑสูตร2
ว่าด้วยความกลัวเกิดจากโทษของตน
(พระผู้มีพระภาคตรัสท่ามกลางหมู่ทหารของพระญาติทั้งสองฝ่ายดังนี้)
[942] ความกลัวเกิดจากโทษของตน
เธอทั้งหลายจงมองดูคนที่มุ่งร้ายกัน
เราจักกล่าวความสังเวชตามที่เราได้เคยสังเวชมาแล้ว
[943] เพราะเห็นหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรนอยู่
เหมือนฝูงปลาในบ่อที่มีน้ำน้อย
เพราะเห็นสัตว์ทำร้ายกันและกัน ภัยจึงปรากฏแก่เรา
[944] โลกทั้งหมด3ไม่มีแก่นสาร
สังขารทั้งหลายทุกทิศก็หวั่นไหว
เราเมื่อต้องการภพสำหรับตน
ก็มองไม่เห็นฐานะอะไรที่ไม่ถูกครอบงำ

เชิงอรรถ :
1 ครอบงำ หมายถึงครอบงำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ หรือครอบงำบาปอกุศลธรรม
(ขุ.ม. (แปล) 29/169/478)
2 ขุ.ม. (แปล) 29/170-189/480-534
3 โลกทั้งหมด หมายถึงโลกนรก โลกกำเนิดดิรัจฉาน โลกเปตวิสัย โลกมนุษย์ โลกเทวดา โลกขันธ์ โลกธาตุ
โลกอายตนะ และโลกพรหม (ขุ.ม. (แปล) 29/172/488)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :726 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสูตร
[945] เพราะเห็นสัตว์มีที่สิ้นสุดและถูกสกัดกั้น
ความไม่ยินดี จึงมีแก่เรา
อนึ่ง เราได้เห็นลูกศร1ที่เห็นได้ยาก
อันอาศัยหทัยในสัตว์เหล่านี้แล้ว
[946] สัตว์ถูกลูกศรใดปักติดแล้ว วิ่งพล่านไปทุกทิศทาง
เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว
จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน ไม่ต้องล่มจม
[947] คนทั้งหลายกล่าวถึงการศึกษา
เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
บุคคลไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษาหรือกามคุณเหล่านั้น
รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว
พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน
[948] มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง ไม่มีความหลอกลวง
ปราศจากวาจาส่อเสียด ไม่โกรธ
ข้ามพ้นความโลภอันชั่วและความหวงแหนได้แล้ว
[949] นรชนพึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ
ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท
ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น
พึงน้อมใจไปในนิพพาน
[950] นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป
พึงกำหนดรู้ความถือตัว
และพึงประพฤติละเว้นจากความผลุนผลัน

เชิงอรรถ :
1 ลูกศร ในที่นี้หมายถึงกิเลส มี 7 คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ โสกะ และความสงสัย (ขุ.ม. (แปล)
29/174/492-493, ขุ.สุ.อ. 2/945/411

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :727 }