เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 14. ตุวฏกสูตร
[925] ภิกษุไม่พึงสำคัญตนว่า เราเลิศกว่าเขา เราด้อยกว่าเขา
หรือว่าเราเสมอเขา เพราะคุณธรรมนั้น
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมเป็นอเนกแล้ว
ไม่พึงกำหนดตนดำรงอยู่
[926] ภิกษุพึงสงบกิเลสภายในนั่นเอง
ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยทางอื่น
เมื่อภิกษุสงบกิเลสภายในได้แล้ว
ทิฏฐิว่ามีอัตตา หรือทิฏฐิว่าไม่มีอัตตาก็ไม่มีแต่ที่ไหน ๆ
[927] คลื่นไม่เกิดในส่วนกลางทะเล ทะเลเรียบอยู่ ฉันใด
ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหว ฉันนั้น
ภิกษุไม่พึงก่อกิเลสเครื่องฟูใจ1ในที่ไหน ๆ
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[928] พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ2แจ่มแจ้ง
ได้ทรงแสดงธรรมที่เป็นพยาน3
อันเป็นธรรมเครื่องกำจัดอันตราย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงตรัสบอกปฏิปทา
คือปาติโมกข์ หรือแม้สมาธิ

เชิงอรรถ :
1 กิเลสเครื่องฟูใจ มี 7 อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และกรรม (ขุ.ม. (แปล) 29/155/
423-424)
2 จักษุ ในที่นี้หมายถึงจักษุ 5 ชนิด คือ มังสจักษุ ทิพพจักษุ ปัญญาจักษุ พุทธจักษุ และสมันตจักษุ (ขุ.ม.
(แปล) 29/156/424
3 ธรรมที่เป็นพยาน หมายถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบเอง ประจักษ์แก่พระองค์เอง มิใช่โดยการ
เชื่อผู้อื่น (ขุ.ม. (แปล) 29/156/431)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :723 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 14. ตุวฏกสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[929] ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก
พึงป้องกันหูมิให้ได้ยินคามกถา1
ไม่พึงติดใจในรส และไม่พึงยึดถืออะไร ๆ
ในโลกว่า เป็นของเรา
[930] เมื่อใด ภิกษุถูกผัสสะกระทบ
เมื่อนั้น เธอก็ไม่พึงทำความคร่ำครวญในที่ไหน ๆ
ไม่พึงคาดหวังภพ และไม่พึงกระสับกระส่าย
เพราะอารมณ์ที่น่ากลัว
[931] ภิกษุได้ข้าวก็ดี น้ำก็ดี ของขบเคี้ยวก็ดี ผ้าก็ดี
ไม่ควรทำการสะสม เมื่อไม่ได้ข้าวเป็นต้น ก็ไม่พึงสะดุ้ง
[932] ภิกษุพึงเป็นผู้มีฌาน ไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเว้นจากความคะนอง ไม่พึงประมาท
และพึงอยู่ในที่นั่งที่นอนที่มีเสียงน้อย
[933] ภิกษุไม่พึงหลับมาก มีความเพียรเครื่องเผากิเลส
พึงประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความหลอกลวง
เรื่องชวนหัว การเล่น เมถุนธรรม พร้อมทั้งการประดับตกแต่ง
[934] ผู้นับถือพระรัตนตรัยไม่พึงประกอบการทำอาถรรพณ์2
การทำนายฝัน การทำนายลักษณะ หรือแม้การดูฤกษ์ยาม

เชิงอรรถ :
1 คามกถา ในที่นี้หมายถึงติรัจฉานกถา คือถ้อยคำอันขวางทางไปสู่สวรรค์หรือนิพพาน ได้แก่เรื่องราวที่ภิกษุ
ไม่ควรนำมาเป็นข้อสนทนากัน เพราะทำให้เกิดความฟุ้งซ่านและหลงเพลินเสียเวลา (ที.สี.อ. 1/17/84)
และดู ขุ.ม. (แปล) 29/157/439 ประกอบ
2 อาถรรรพณ์ หมายถึงคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ หรือเวทมนตร์ที่ใช้เพื่อให้ดีหรือร้าย เป็นคัมภีร์อีกเล่มหนึ่ง
ในคัมภีร์พระเวท (ขุ.ม.อ. 126/417)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :724 }