เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 14. ตุวฏกสูตร
[925] ภิกษุไม่พึงสำคัญตนว่า เราเลิศกว่าเขา เราด้อยกว่าเขา
หรือว่าเราเสมอเขา เพราะคุณธรรมนั้น
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมเป็นอเนกแล้ว
ไม่พึงกำหนดตนดำรงอยู่
[926] ภิกษุพึงสงบกิเลสภายในนั่นเอง
ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยทางอื่น
เมื่อภิกษุสงบกิเลสภายในได้แล้ว
ทิฏฐิว่ามีอัตตา หรือทิฏฐิว่าไม่มีอัตตาก็ไม่มีแต่ที่ไหน ๆ
[927] คลื่นไม่เกิดในส่วนกลางทะเล ทะเลเรียบอยู่ ฉันใด
ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหว ฉันนั้น
ภิกษุไม่พึงก่อกิเลสเครื่องฟูใจ1ในที่ไหน ๆ
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[928] พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ2แจ่มแจ้ง
ได้ทรงแสดงธรรมที่เป็นพยาน3
อันเป็นธรรมเครื่องกำจัดอันตราย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงตรัสบอกปฏิปทา
คือปาติโมกข์ หรือแม้สมาธิ

เชิงอรรถ :
1 กิเลสเครื่องฟูใจ มี 7 อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และกรรม (ขุ.ม. (แปล) 29/155/
423-424)
2 จักษุ ในที่นี้หมายถึงจักษุ 5 ชนิด คือ มังสจักษุ ทิพพจักษุ ปัญญาจักษุ พุทธจักษุ และสมันตจักษุ (ขุ.ม.
(แปล) 29/156/424
3 ธรรมที่เป็นพยาน หมายถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบเอง ประจักษ์แก่พระองค์เอง มิใช่โดยการ
เชื่อผู้อื่น (ขุ.ม. (แปล) 29/156/431)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :723 }