เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสูตร
[909] ความชอบใจวัตถุ ย่อมมีแก่ผู้กำลังปรารถนา
อนึ่ง ความหวั่นไหว ย่อมมีเพราะวัตถุที่กำหนดแล้ว
ความตายและความเกิดมิได้มีแก่ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้
ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไรเล่า
หรือจะพึงชอบใจในอะไรเล่า
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[910] สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่า เยี่ยม
แต่สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับกล่าวธรรมนั้นนั่นเองว่า เลว
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนจริงกันหนอ
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวก
ต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[911] อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวก
กล่าวธรรมของตนว่า บริบูรณ์ แต่กล่าวธรรมของผู้อื่นว่า เลว
พวกสมณพราหมณ์ถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ว ย่อมวิวาทกัน
เพราะต่างกล่าวทิฏฐิสมมติของตน ๆ ว่า จริง
[912] หากบุคคลเป็นคนเลวเพราะเหตุที่ผู้อื่นพูดติเตียนไซร้
ก็จะไม่พึงมีใครวิเศษในธรรมทั้งหลายได้เลย
เพราะคนส่วนมาก ต่างกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
พากันกล่าวถึงธรรมของผู้อื่นว่า เป็นสิ่งเลวทราม
[913] การบูชาหลักการของตน เป็นเรื่องแท้จริง
เหมือนสมณพราหมณ์พากันสรรเสริญแนวทางของตน ฉะนั้น
การว่าร้ายทุกอย่างก็พึงมีอยู่แท้จริง
เพราะความหมดจดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นเรื่องเฉพาะตนเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :719 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสูตร
[914] ญาณที่ผู้อื่นพึงแนะนำไม่มีแก่พราหมณ์
ความตกลงใจแล้วยึดมั่นในธรรมทั้งหลาย ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงล่วงเลยการวิวาททั้งหลายได้แล้ว
แท้จริง พราหมณ์ไม่เห็นธรรมอื่นว่า เป็นของประเสริฐ
[915] สมณพราหมณ์บางพวกเชื่อความหมดจดเพราะทิฏฐิว่า
เรารู้ เราเห็นความหมดจดนี้ว่า มีจริง
ถ้าสมณพราหมณ์ผู้หนึ่งได้เห็นแล้ว
จะมีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นนั้นแก่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่า
เพราะพวกสมณพราหมณ์แล่นเลย(ทางแห่งความหมดจด)แล้ว
ย่อมกล่าวความหมดจดด้วยการเห็นอื่น
[916] นรชนเมื่อเห็นย่อมเห็นนามรูป
หรือครั้นเห็นแล้วก็รู้จักเฉพาะนามรูปเหล่านั้นเท่านั้น
นรชนเห็นนามรูปมากบ้าง น้อยบ้างโดยแท้
ถึงอย่างนั้น ผู้ฉลาดทั้งหลายก็ไม่กล่าวความหมดจด
เพราะการเห็นนามรูปนั้น
[917] นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำได้ง่าย
เป็นผู้เชิดชูทิฏฐิที่กำหนดไว้แล้ว
อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวว่าศาสดานั้นดีงามเพราะทิฏฐินั้น
นรชนนั้นผู้กล่าวความหมดจดได้เห็นว่าแท้จริงในทิฏฐินั้น
[918] พราหมณ์พิจารณาแล้ว ย่อมไม่เข้าถึงความกำหนด
ไม่แล่นไปด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่ผูกพันด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเพราะญาณ
พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้วก็วางเฉยทิฏฐิสมมติที่เกิดจากปุถุชน
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :720 }