เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[905] สมณพราหมณ์ผู้กล่าวอ้างศีลว่า สูงสุด
สมาทานวัตรแล้ว ดำรงอยู่
ได้กล่าวความหมดจดด้วยความสำรวมว่า
พวกเราศึกษาในทิฏฐินี้แหละ และศึกษาความหมดจดแห่งวัตรนั้น
สมณพราหมณ์เหล่านั้นอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
ย่อมเป็นผู้ถูกนำเข้าสู่ภพ
[906] ถ้าบุคคลเคลื่อนจากศีลและวัตร
พลาดกรรมแล้วก็หวั่นไหว
เขาย่อมเฝ้าแต่พร่ำเพ้อและปรารถนาความหมดจด
เหมือนคนออกจากเรือนอยู่ร่วมกับพวกเดินทาง
พลัดพรากจากพวก ฉะนั้น
[907] อริยสาวกละศีลและวัตรได้ทั้งหมด
ละกรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษ1เสียได้
ไม่ปรารถนาความหมดจดและความไม่หมดจด
งดเว้นแล้ว ไม่ยึดมั่นทิฏฐิที่มีอยู่เที่ยวไป
[908] สมณพราหมณ์เข้าไปอาศัยตบะที่ตนเกลียดชังนั้น
เข้าไปอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้
เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า
ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
จึงยังพร่ำพูดถึงความหมดจดอยู่

เชิงอรรถ :
1 กรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษ หมายถึงอกุศลทั้งปวง ได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ประการ และโลกิย-
กุศลได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 ประการ (ขุ.สุ.อ. 2/907/401, ที.ปา.อ. 3/312/220)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :718 }