เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 9. ปาปวรรค 12. สุปปพุทธสักกวัตถุ
11. ตโยชนวัตถุ
เรื่องคน 3 จำพวก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[127] คนทำบาป ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
ถึงจะดำลงไปกลางทะเล ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
ถึงจะเข้าไปหลบตัวในซอกเขา ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่คนทำบาปยืนอยู่แล้ว
จะพ้นจากบาปกรรมได้

12. สุปปพุทธสักกวัตถุ
เรื่องเจ้าศากยะสุปปพุทธะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[128] บุคคล ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ ก็ไม่พ้นจากความตาย
ถึงจะดำลงไปกลางทะเล ก็ไม่พ้นจากความตาย
ถึงจะเข้าไปหลบตัวในซอกเขา ก็ไม่พ้นจากความตาย
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่บุคคลยืนอยู่แล้ว
จะไม่ถูกความตายครอบงำได้
ปาปวรรคที่ 9 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :71 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 10. ทัณธวรรค 2. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
10. ทัณฑวรรค
หมวดว่าด้วยการลงทัณฑ์1
1. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[129] สัตว์ทุกประเภท ย่อมสะดุ้งกลัวโทษทัณฑ์
สัตว์ทุกประเภท ย่อมหวาดกลัวความตาย
บุคคลนำตนเข้าไปเปรียบเทียบแล้ว
ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้คนอื่นฆ่า

2. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[130] สัตว์ทุกประเภท ย่อมสะดุ้งกลัวโทษทัณฑ์
สัตว์ทุกประเภท ย่อมรักชีวิต2
บุคคลนำตนเข้าไปเปรียบเทียบแล้ว
ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้คนอื่นฆ่า

เชิงอรรถ :
1 ลงทัณฑ์ ตามความหมายในวรรคนี้คือ การใช้กำลังทำร้าย เข่นฆ่า หรือเบียดเบียนบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่น
ให้ได้รับความเดือดร้อน โดยการใช้ท่อนไม้ ก้อนดิน และวาจาที่หยาบคายให้ร้ายป้ายสี ตลอดถึงการใช้
บทบัญญัติ บทลงโทษที่เอื้อประโยชน์ตนเป็นเครื่องมือ (ขุ.ธ.อ. 5/40-58)
2 ยกเว้นพระขีณาสพ เพราะท่านเป็นผู้วางเฉยได้ในชีวิตหรือความตาย (ขุ.ธ.อ. 5/42)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :72 }