เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 5. มงคลสูตร
[2] เทวดาและมนุษย์จำนวนมาก
ต่างมุ่งหวังความสวัสดี ร่วมกันคิดถึงเรื่องมงคล
ขอพระองค์ตรัสบอกมงคลอันสูงสุดด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบดังนี้)
[3] (1) การไม่คบคนพาล (2) การคบแต่บัณฑิต
(3) การบูชาคนที่ควรบูชา
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[4] (4) การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
(5) การได้สร้างบุญไว้ในปางก่อน (6) การตั้งตนไว้ชอบ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[5] (7) ความเป็นพหูสูต (8) ความเป็นผู้มีศิลปะ
(9) วินัยที่ศึกษามาดี (10) วาจาสุภาษิต
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[6] (11) การบำรุงมารดาบิดา (12) การสงเคราะห์บุตร
(13) การสงเคราะห์ภรรยา (14) การงานที่ไม่อากูล1
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[7] (15) การให้ทาน (16) การประพฤติธรรม
(17) การสงเคราะห์ญาติ (18) การงานที่ไม่มีโทษ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[8] (19) การงดเว้นจากบาป (20) การเว้นจากการดื่มน้ำเมา
(21) ความไม่ประมาทในธรรม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

เชิงอรรถ :
1 อากูล หมายถึงการงานที่ทำคั่งค้างไว้ ที่ทำไม่เหมาะสม และที่ทำย่อหย่อนไม่สมบูรณ์แบบ (ขุ.ขุ.อ. 5/121)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :7 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 5. มงคลสูตร
[9] (22) ความเคารพ (23) ความถ่อมตน (24) ความสันโดษ
(25) ความกตัญญู (26) การฟังธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[10] (27) ความอดทน1 (28) ความเป็นคนว่าง่าย
(29) การพบเห็นสมณะ (30) การสนทนาธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[11] (31) การเผาผลาญบาป (32) การประพฤติพรหมจรรย์2
(33) การเห็นอริยสัจ (34) การทำนิพพานให้แจ้ง
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[12] (35) จิตของผู้ที่ถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว
(36) จิตไม่เศร้าโศก (37) จิตปราศจากธุลี (38) จิตเกษม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[13] เทวดาและมนุษย์ทำมงคลดังกล่าวมานี้แล้ว
ไม่พ่ายแพ้ข้าศึกทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน
ทั้ง 38 ประการนั้น เป็นมงคลอันสูงสุด
ของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
มงคลสูตร จบ

เชิงอรรถ :
1 ความอดทน ในที่นี้หมายถึงอธิวาสนขันติ (ขันติคือความอดกลั้น) ได้แก่ ความอดกลั้นต่อคำด่าต่าง ๆ
อดกลั้นต่อการถูกเบียดเบียน ตลอดถึงอดกลั้นต่อทุกขเวทนา เช่น ความหนาว ความร้อน เป็นต้น ยกตน
อยู่เหนือทุกข์ต่าง ๆ ดำรงตนอยู่ได้อย่างไม่หวั่นไหว (ขุ.ขุ.อ. 5/129)
2 พรหมจรรย์ เป็นชื่อของ (1) เมถุนวิรัติ (ดู ที.สี. (แปล) 9/8/3, ม.มู. (แปล) 12/292/323)
(2)สมณธรรม (ดู ม.มู. (แปล) 12/257/217) (3)ศาสนา (ดู ที.ม. (แปล) 10/168/113) (4)มรรค
(ดู สํ.ม. (แปล) 19/6/9) (ขุ.ขุ.อ. 5/133)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :8 }