เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 8. ปสูรสูตร
[828] มุนีรู้โทษนี้แล้ว ในคราวเป็นคฤหัสถ์
ก่อนบวชในธรรมวินัยนี้
พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง
ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม
[829] บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั้นแหละ
เพราะการประพฤติวิเวกนี้ เป็นกิจสูงสุดของพระอริยะทั้งหลาย
ไม่พึงสำคัญตนว่าเราเป็นผู้ประเสริฐสุด ด้วยการประพฤติวิเวกนั้น
ผู้นั้นแล ชื่อว่า อยู่ใกล้นิพพาน
[830] หมู่สัตว์ผู้ติดใจในกามทั้งหลาย
ย่อมยินดีมุนีผู้ว่าง ประพฤติอยู่
ไม่มุ่งหวังกามทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
ติสสเมตเตยยสูตรที่ 7 จบ

8. ปสูรสูตร1
ว่าด้วยปริพาชกชื่อว่าปสูระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ปสูรปริพาชกในท่ามกลางพุทธบริษัทดังนี้)
[831] สมณพราหมณ์เป็นอันมาก
ย่อมกล่าวความหมดจดในธรรมนี้เท่านั้น
ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
บุคคลอาศัยศาสดาใดก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม
ในเพราะทิฏฐิของตนนั้น เป็นผู้ตั้งอยู่ในปัจเจกสัจจะ2

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ม. (แปล) 29/59-69/195-216
2 ปัจเจกสัจจะ ในที่นี้หมายถึงสัจจะเฉพาะอย่าง เช่น สัจจะที่ว่า โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง (ขุ.ม.
(แปล) 29/59/196)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :699 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 8. ปสูรสูตร
[832] สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด
เข้าไปสู่บริษัทแล้ว จับคู่กล่าวหากันและกันว่า เป็นคนพาล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว
ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด
[833] คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว) ในท่ามกลางบริษัท
เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ
เป็นผู้เก้อเขินในเมื่อถูกคัดค้านตกไป
ย่อมโกรธเคืองเพราะคำนินทา แสวงหาข้อแก้ตัว
[834] บริษัทผู้พิจารณาปัญหากล่าววาทะของเขาว่า เลว
ถูกคัดค้านให้ตกไปแล้ว
เขาเสื่อมวาทะไปแล้ว ย่อมคร่ำครวญเศร้าโศก
ทอดถอนใจว่า เขานำ(หน้า) เราไปแล้ว
[835] การวิวาทเหล่านี้เกิดแล้วในหมู่สมณะ
ความยินดีและความยินร้าย มีอยู่ในการวิวาทเหล่านี้
บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว พึงงดเว้นถ้อยคำขัดแย้งกัน
เพราะว่าไม่มีประโยชน์อื่นนอกจากการได้ความสรรเสริญ
[836] ก็หรือว่า บุคคลกล่าววาทะในท่ามกลางบริษัท
ได้รับความสรรเสริญเพราะทิฏฐิของตนนั้น
เขาย่อมหัวเราะและฟูใจด้วยประโยชน์แห่งความชนะนั้น
เพราะได้บรรลุถึงประโยชน์ตามที่ใจคิดไว้แล้ว
[837] ความลำพองตน ย่อมเป็นภูมิสำหรับย่ำยีของเขา
เขาจึงกล่าวคำถือตัวและคำดูหมิ่นกัน
บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว ไม่ควรวิวาทกัน
เพราะผู้ฉลาดทั้งหลาย ไม่กล่าวความหมดจด
ด้วยความวิวาทกันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :700 }