เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสูตร
[823] ผู้ใดในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียว1
(ต่อมา)เข้าไปเสพเมถุนธรรม2
ผู้รู้ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นปุถุชนเลวในโลก
เหมือนยานที่แล่นไป3 ฉะนั้น
[824] ยศและเกียรติ4ในเบื้องต้นของภิกษุนั้น เสื่อมไป
ภิกษุเห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม
[825] ภิกษุนั้นถูกความดำริครอบงำ
ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า
ครั้นได้ยินคำตำหนิของคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น
[826] ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของผู้อื่นตักตือนแล้ว
ย่อมสร้างศัสตรา5ย่อมก้าวลงสู่ความเป็นคนพูดเท็จ
นี้แหละเป็นเครื่องทำให้ติดใหญ่ของเธอ
[827] ภิกษุ (ในเบื้องต้น) ได้สมญานามว่า เป็นบัณฑิต
อธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียว
ต่อมา เธอประกอบในเมถุนธรรม
ก็จักมัวหมอง เหมือนกับคนโง่ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 เที่ยวไปผู้เดียว หมายถึงบวชเป็นบรรพชิตและการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ(ขุ.ม. (แปล) 29/51/177)
2 เข้าไปเสพเมถุน หมายถึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์เสพเมถุนธรรม (ขุ.ม. (แปล) 29/51/178)
3 ยานที่แล่นไป ในที่นี้หมายถึงยานช้าง ยานม้า และยานโค ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกหัด ย่อมแล่นพาออกไป
นอกทาง (ขุ.ม. (แปล) 29/51/178)
4 ยศและเกียรติ ในที่นี้หมายถึงลาภสักการะและความสรรเสริญ (ขุ.สุ.อ. 2/824/373)
5 ศัสตรา มี 3 อย่าง คือ (1) ศัสตราทางกาย (2) ศัสตราทางวาจา (3) ศัสตราทางใจ หรือกายทุจริต
3 อย่าง วจีทุจริต 4 อย่าง และมโนทุจริต 3 อย่าง ในที่นี้หมายถึงศัสตราทางวาจา (ขุ.ม. (แปล)
29/54/184)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :698 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 8. ปสูรสูตร
[828] มุนีรู้โทษนี้แล้ว ในคราวเป็นคฤหัสถ์
ก่อนบวชในธรรมวินัยนี้
พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง
ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม
[829] บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั้นแหละ
เพราะการประพฤติวิเวกนี้ เป็นกิจสูงสุดของพระอริยะทั้งหลาย
ไม่พึงสำคัญตนว่าเราเป็นผู้ประเสริฐสุด ด้วยการประพฤติวิเวกนั้น
ผู้นั้นแล ชื่อว่า อยู่ใกล้นิพพาน
[830] หมู่สัตว์ผู้ติดใจในกามทั้งหลาย
ย่อมยินดีมุนีผู้ว่าง ประพฤติอยู่
ไม่มุ่งหวังกามทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
ติสสเมตเตยยสูตรที่ 7 จบ

8. ปสูรสูตร1
ว่าด้วยปริพาชกชื่อว่าปสูระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ปสูรปริพาชกในท่ามกลางพุทธบริษัทดังนี้)
[831] สมณพราหมณ์เป็นอันมาก
ย่อมกล่าวความหมดจดในธรรมนี้เท่านั้น
ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
บุคคลอาศัยศาสดาใดก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม
ในเพราะทิฏฐิของตนนั้น เป็นผู้ตั้งอยู่ในปัจเจกสัจจะ2

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ม. (แปล) 29/59-69/195-216
2 ปัจเจกสัจจะ ในที่นี้หมายถึงสัจจะเฉพาะอย่าง เช่น สัจจะที่ว่า โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง (ขุ.ม.
(แปล) 29/59/196)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :699 }