เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสูตร
สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมยึดถือ ย่อมสลัดทิ้ง
เหมือนลิงจับกิ่งไม้แล้วก็ปล่อย ฉะนั้น
[799] สัตว์เกิดสมาทานวัตรทั้งหลายเอง
ข้องอยู่ในสัญญา1 ย่อมดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ
ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลาย2แล้ว
เป็นผู้มีปัญญาอันไพบูลย์
ย่อมไม่ดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ
[800] ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือ
รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้น
ผู้เห็นผู้ประพฤติเปิดเผยด้วยเหตุอะไรเล่า
[801] สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู
สัตบุรุษเหล่านั้นไม่กล่าวว่าเป็นความหมดจดสุดโต่ง
สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว
ไม่ก่อความหวังในที่ไหน ๆ ในโลก
[802] พระอรหันต์เป็นผู้ไปพ้นเขตแดน3แล้ว เป็นพราหมณ์
เพราะรู้และเห็น พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีความถือมั่น
ไม่มีความกำหนัดในกามคุณอันเป็นที่กำหนัด
ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด
พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีความถือมั่นว่า ยอดเยี่ยมในโลกนี้
สุทธัฏฐกสูตรที่ 4 จบ

เชิงอรรถ :
1 ข้องอยู่ในสัญญา หมายถึงพัวพันอยู่ในกามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา และทิฏฐิสัญญา
(ขุ.ม. (แปล) 29/27/112)
2 รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลาย หมายถึงรู้อริยสัจ 4 ด้วยมรรคญาณ 4 (ขุ.สุ.อ. 2/799/363)
3 เขตแดน หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ. 2/802/364)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :693 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 5. ปรมัฏฐกสูตร
5. ปรมัฏฐกสูตร1
ว่าด้วยผู้ยึดถือทิฏฐิของตนว่ายอดเยี่ยม
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[803] สัตว์เกิดผู้ยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่า ยอดเยี่ยม
ย่อมทำทิฏฐิใดให้ยิ่งใหญ่ในโลก
กล่าวทิฏฐิอื่นทุกอย่างนอกจากทิฏฐินั้นว่า เลว
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดนั้นจึงไม่ล่วงพ้นการวิวาทไปได้
[804] เจ้าลัทธิเห็นอานิสงส์ใดในตน ในรูปที่เห็น
ในเสียงที่ได้ยิน ในศีลและวัตร หรือในอารมณ์ที่รับรู้
เจ้าลัทธินั้นยึดมั่นทิฏฐินั้นในลัทธิของตนนั้น
เห็นทิฏฐิอื่นทั้งปวงโดยความเป็นของเลว
[805] บุคคลอาศัยศาสดาใด เห็นศาสดาอื่นว่า เลว
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกศาสดานั้นว่า เป็นเครื่องร้อยรัด
เพราะฉะนั้นแล ภิกษุจึงไม่ควรอาศัยรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือศีลและวัตร
[806] ภิกษุไม่พึงกำหนดทิฏฐิในโลกด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลและวัตร
ไม่พึงเอาตนเข้าไปเทียบว่าเสมอเขา
ไม่พึงสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา หรือเลิศกว่าเขา
[807] ภิกษุนั้นละอัตตาแล้ว ไม่ยึดถือ ไม่สร้างนิสัยแม้ด้วยญาณ
เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน
ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าเป็นฝักเป็นฝ่าย
ภิกษุนั้นไม่ถือแม้ทิฏฐิอะไร ๆ

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ม. (แปล) 29/31-38/123-141

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :694 }