เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสูตร
[781] สัตว์เหล่านั้นยินดีขวนขวาย ลุ่มหลงในกามทั้งหลาย
เป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่ในกรรมที่ผิด
ประสบทุกข์แล้วจึงคร่ำครวญอยู่ว่า
เราจุติจากภพนี้ จักเป็นอะไรหนอ
[782] เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้1
พึงรู้จักกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกว่า เป็นกรรมที่ผิด
ไม่พึงประพฤติผิดเพราะเหตุแห่งกรรมที่ผิดนั้น
นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย
[783] เราเห็นหมู่สัตว์นี้ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย2
กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก
นรชนที่เลวผู้ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช
[784] พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่
เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อยสิ้นกระแสแล้ว
นรชนเห็นโทษนี้แล้วก็อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย
พึงประพฤติไม่ยึดถือว่า เป็นของเรา
[785] นักปราชญ์พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง 2 ด้าน
กำหนดรู้ผัสสะ3แล้ว ก็ไม่ติดใจ

เชิงอรรถ :
1 คำว่า สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้ ดูรายละเอียดใน ขุ.ม. (แปล) 29/10/48-49
2 ภพทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงกามภพ รูปภพ และอรูปภพ (ขุ.ม. (แปล) 29/11/57)
3 ผัสสะ หมายถึงความสัมผัสอารมณ์ที่มากระทบ เช่น ตากระทบกับรูป หรือตาเห็นรูป เรียกจักขุสัมผัส
เป็นต้น (ขุ.ม. (แปล) 29/13/63)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :689 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 3. ทุฏฐัฏฐกสูตร
ติเตียนกรรมใดด้วยตน ก็ไม่ทำกรรมนั้น
ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว
[786] มุนีกำหนดรู้สัญญาแล้ว ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย
พึงข้ามโอฆะได้ ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท
ประพฤติอยู่ ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า
คุหัฏฐกสูตรที่ 2 จบ

3. ทุฏฐัฏฐกสูตร1
ว่าด้วยเรื่องเดียรถีย์กับมุนี
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พระอานนท์ดังนี้)
[787] เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย
บุคคลเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริงก็กล่าวร้ายด้วย
แต่มุนีย่อมไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตในที่ไหน ๆ
[788] ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความชอบใจ
พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า
แต่เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น
[789] สัตว์เกิดใดไม่มีใครถาม
ก็บอกศีลและวัตรของตนแก่บุคคลเหล่าอื่น
สัตว์เกิดใดกล่าวถึงตัวเองเท่านั้น
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกสัตว์เกิดนั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม
[790] ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว
ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นดังนี้

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบคำแปลพร้อมทั้งอธิบายใน ขุ.ม. (แปล) 29/15-22/74-100

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :690 }