เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 12. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[752] ภิกษุผู้ถอนภวตัณหาได้แล้ว มีจิตสงบ
มีชาติและสงสารสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่
(11) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมด
ย่อมเกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย‘1 นี้เป็นคู่ที่ 1 การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘เพราะอาหารนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’
นี้เป็นคู่ที่ 2
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น 2 คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[753] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย
เพราะอาหารทั้งหลายดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[754] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย
กำหนดรู้อาหารทุกอย่าง
จึงเป็นผู้ไม่มีตัณหาในอาหารทั้งหมด
[755] ภิกษุรู้ความไม่มีโรค2โดยชอบ
พิจารณาแล้วจึงใช้สอยปัจจัย 4

เชิงอรรถ :
1 อาหาร หมายถึงอาหารที่สัมปยุตด้วยกรรม ความจริง สัตว์ 4 จำพวกมีอาหารเป็นปัจจัย คือ
(1) รูปูปคา (ผู้เข้าถึงรูป) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในกามธาตุ 11 อย่าง เสพกวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว)
(2) เวทนูปคา(ผู้เข้าถึงเวทนา) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในรูปธาตุ ยกเว้นอสัญญีสัตว์ เสพผัสสาหาร
(3) สัญญูปคา (ผู้เข้าถึงสัญญา) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในอรูปธาตุ 3 อย่าง เบื้องต่ำ เสพมโนสัญเจตนาหาร
อันเกิดแต่สัญญา (4) สังขารูปคา (ผู้เข้าถึงสังขาร) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในภูมิเบื้องสูง เสพวิญญาณาหาร
อันเกิดแต่สังขาร (ขุ.สุ.อ. 2/751/340)
2 ความไม่มีโรค ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. 2/755/341)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :680 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 12. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ดำรงอยู่ในธรรม จบเวท
ย่อมไม่เข้าถึงการนับ1อีกต่อไป
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
(12) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะอิญชิตะ2(ความหวั่นไหว) เป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ 1 การพิจารณาเห็น
เนือง ๆ ว่า ‘เพราะอิญชิตะนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้
อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ 2
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น 2 คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[756] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอิญชิตะเป็นปัจจัย
เพราะดับอิญชิตะ
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[757] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอิญชิตะเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้น จึงควรสละตัณหา ดับสังขารได้
ไม่มีอิญชิตะ ไม่มีความถือมั่น มีสติ สัมปชัญญะอยู่
(13) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ผันทิตะ(ความดิ้นรน) ย่อมมีแก่ผู้ตกอยู่ใต้อำนาจ
ตัณหาทิฏฐิ และมานะ’ นี้เป็นคู่ที่ 1 การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ผู้ที่พ้นจาก
อำนาจตัณหาทิฏฐิ และมานะ ย่อมไม่ดิ้นรน’ นี้เป็นคู่ที่ 2

เชิงอรรถ :
1 ไม่เข้าถึงการนับ ในที่นี้หมายถึงไม่เข้าถึงการนับว่า ‘เทพ’ หรือ “มนุษย์” เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 2/375/341)
2 อิญชิตะ(ความหวั่นไหว) ในที่นี้หมายถึงตัณหา มานะ ทิฏฐิ กรรม และกิเลส (ขุ.สุ.อ. 2/755/341)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :681 }