เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 12. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น 2 คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[742] ชนทั้งหลายผู้ถูกผัสสะครอบงำแล้ว
แล่นไปตามกระแส (ตัณหา) ในภพ
ดำเนินไปผิดทาง ย่อมห่างไกลจากความสิ้นสังโยชน์
[743] ส่วนชนทั้งหลายผู้กำหนดรู้ผัสสะจนทั่วถึงแล้ว
ยินดีในธรรมเป็นที่สงบระงับได้ด้วยปัญญา
ย่อมเป็นผู้ปราศจากตัณหา ดับกิเลสลงได้สิ้นเชิง
เพราะรู้ยิ่งถึงผัสสะ
(7) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย1 ‘ นี้เป็นคู่ที่ 1 การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ‘เพราะ
เวทนานั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ 2
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น 2 คู่โดยชอบเนือง ๆ อย่างนี้
ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[744] เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
มีอยู่ทั้งภายในและภายนอก
[745] ภิกษุรู้ว่า เวทนานี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
ถูกต้องสัมผัสเวทนาที่มีความเสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา
มีปกติทรุดโทรมไป ด้วยอุทยัพพยญาณแล้ว
เห็นความเสื่อมเป็นที่สุด

เชิงอรรถ :
1 เวทนาเป็นปัจจัย หมายถึงเวทนาที่สัมปยุตด้วยกรรมเป็นปัจจัย (ขุ.สุ.อ. 2/744/339)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :677 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 12. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ชื่อว่ารู้แจ้งเห็นจริงในเวทนานั้นอย่างนี้
เพราะเวทนาทั้งหลายสิ้นไปนั่นเอง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
(8) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิด
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ 1 การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ‘เพราะตัณหานั้น
เองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ 2
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น 2 คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[746] บุคคลมีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏ ที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น
[747] ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่1
(9) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ 1 การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะ
อุปาทานนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็น
คู่ที่ 2
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น 2 คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/9/15, ขุ.ม. (แปล) 29/191/540, ขุ.จู. (แปล) 30/107/364 และดู
อิติวุตตกะ ข้อ 15 หน้า 359 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :678 }