เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 9. ปาปวรรค 2. เสยยสกเถรวัตถุ
9. ปาปวรรค
หมวดว่าด้วยบาป
1. จูเฬกสาฏกวัตถุ
เรื่องพราหมณ์จูเฬกสาฎก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[116] บุคคลควรรีบเร่งทำบุญ1 ควรห้ามจิตจากบาป2
เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจจะยินดีในบาป

2. เสยยสกเถรวัตถุ
เรื่องพระเสยยสกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเสยยสกเถระ ดังนี้)
[117] หากบุคคลทำบาปไป ก็ไม่ควรทำบาปนั้นซ้ำอีก
ไม่ควรทำความพอใจในบาปนั้น
เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้

เชิงอรรถ :
1 บุญ หมายถึงการให้ทาน การบำเพ็ญวัตร มีอุปัชฌายวัตรเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 5/4)
2 บาป หมายถึงกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือการเกิดขึ้นแห่งอกุศลจิต (ขุ.ธ.อ. 5/4)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :67 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 9. ปาปวรรค 4. อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ
3. ลาชเทวธีตาวัตถุ
เรื่องลาชเทพธิดา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ลาชเทพธิดา ดังนี้)
[118] หากบุคคลทำบุญ ก็ควรทำบุญนั้นบ่อย ๆ
ควรทำความพอใจในบุญนั้น
เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้

4. อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีและเทวดาผู้สิงสถิต
อยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของเศรษฐี ดังนี้)
[119] ตราบใดที่บาปยังไม่ให้ผล
ตราบนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าดี
แต่เมื่อใด บาปให้ผล
เมื่อนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าชั่วแท้
[120] ตราบใดที่กรรมดียังไม่ให้ผล
ตราบนั้น คนดีจะเห็นกรรมดีว่าชั่ว
แต่เมื่อใด กรรมดีให้ผล
เมื่อนั้นคนดีจะเห็นกรรมดีว่าดีแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :68 }