เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 11. นาลกสูตร
[709] อารมณ์สู่งต่ำ1เปรียบเหมือนเปลวไฟในป่าย่อมปรากฏ
นารีมักประเล้าประโลมมุนี
เธอจงระวังอย่าให้นางประเล้าประโลมได้
[710] มุนีพึงงดเว้นจากเมถุนธรรม
ละกามคุณทั้งที่ประณีตและไม่ประณีต
ไม่ยินดียินร้ายในสัตว์ผู้ยังหวาดสะดุ้งและที่มั่นคง
[711] มุนีพึงทำตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด
สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น
สัตว์เหล่านี้ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว
ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
[712] มุนีละความปรารถนาและความโลภในปัจจัย 4
ที่ปุถุชนพากันหลงยึดติดได้แล้ว เป็นผู้มีจักษุ
ปฏิบัติปฏิปทาของมุนี
ก็จะข้ามพ้นความทะยานอยากในปัจจัยซึ่งเป็นดุจเหวลึกนี้ได้
[713] มุนีควรเป็นผู้มีท้องพร่อง ฉันอาหารแต่พอประมาณ
มีความปรารถนาน้อย ปราศจากความละโมบ
หมดความกระหายหิวด้วยความอยาก ไม่มีความอยากอีกต่อไป
ดับความเร่าร้อนได้ตลอดกาล

เชิงอรรถ :
1 อารมณ์สูงต่ำ หมายถึงอิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา) และอนิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) (ขุ.สุ.อ.
2/709/324)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :668 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 11. นาลกสูตร
[714] มุนีนั้นเที่ยวรับบิณฑบาตแล้ว ควรเข้าไปชายป่าทันที
ยืนหรือนั่งที่โคนต้นไม้ชายป่านั้น
[715] มุนีนั้นควรจะขวนขวายในฌาน ทรงปัญญา
ยินดีอยู่เฉพาะในชายป่า
ควรเพ่งพินิจ ทำตนให้ยินดียิ่ง ณ โคนต้นไม้นั้น
[716] จากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว
มุนีควรเข้าไปสู่บริเวณหมู่บ้าน
ไม่ควรยินดีรับนิมนต์ฉันที่เรือน
และอาหารที่เขานำมาจากบ้านถวายเจาะจง
[717] มุนีเข้าไปถึงหมู่บ้านแล้ว
ไม่ควรรีบร้อนเข้าไปเรือนตระกูลอุปัฏฐาก
เป็นผู้ตัดการพูดคุย ไม่ควรกล่าววาจาเกี่ยวกับการแสวงหาของกิน
[718] มุนีนั้นคิดว่า สิ่งที่เราได้แล้วล้วนแต่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น
ถึงไม่ได้ก็ดี ดังนี้แล้ว
เป็นผู้คงที่ เพราะการได้เและไม่ได้ทั้ง 2 อย่างนั้น
กลับเข้าไปยังที่อยู่ของตน
เหมือนคนหาผลไม้เข้าไปยังต้นไม้ ฉะนั้น
[719] มุนีนั้นอุ้มบาตรเที่ยวไป
ไม่เป็นใบ้ก็สมมติตนว่าเป็นใบ้
ไม่ควรดูหมิ่นทานว่าน้อย
ไม่ควรดูแคลนทายกผู้ให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :669 }