เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 11. นาลกสูตร
[704] นาลกดาบสได้ฟังเสียงระบือถึงการที่พระชินสีห์
ทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ
จึงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ องอาจกว่าฤๅษี
แล้วเลื่อมใส ได้ทูลถามปฏิปทาที่ประเสริฐสุดกับพระมุนีผู้ประเสริฐ
ในเมื่อเวลาคำสั่งสอนของอสิตฤๅษีมาถึงเข้า
วัตถุคาถา จบ

(นาลกดาบสทูลถามดังนี้)
[705] ข้าแต่พระโคดม คำของอสิตฤๅษีนั้น
ข้าพระองค์ได้รู้ว่า เป็นจริงตามที่กล่าวแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
[706] พระองค์ผู้อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอจงตรัสบอกมุนีและปฏิปทาอันสูงสุดของมุนีแห่งบรรพชิต
ผู้แสวงหาการเที่ยวไปเพื่อภิกษา แก่ข้าพระองค์เถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[707] เราจักพยากรณ์ปฏิปทาของมุนีที่ปฏิบัติได้ยาก
ทั้งให้เกิดความยินดีได้ยากแก่เธอ
เอาเถิด เราจะบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่เธอ
เธอจงช่วยเหลือตนเอง จงเป็นผู้มั่นคงเถิด
[708] มุนีพึงทำทั้งคำด่าและการกราบไหว้
ในหมู่บ้านให้มีส่วนเสมอกัน
คือพึงรักษาจิตไม่ให้คิดร้าย เป็นผู้สงบ
ไม่ฟุ้งซ่านเที่ยวไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :667 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 11. นาลกสูตร
[709] อารมณ์สู่งต่ำ1เปรียบเหมือนเปลวไฟในป่าย่อมปรากฏ
นารีมักประเล้าประโลมมุนี
เธอจงระวังอย่าให้นางประเล้าประโลมได้
[710] มุนีพึงงดเว้นจากเมถุนธรรม
ละกามคุณทั้งที่ประณีตและไม่ประณีต
ไม่ยินดียินร้ายในสัตว์ผู้ยังหวาดสะดุ้งและที่มั่นคง
[711] มุนีพึงทำตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด
สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น
สัตว์เหล่านี้ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว
ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
[712] มุนีละความปรารถนาและความโลภในปัจจัย 4
ที่ปุถุชนพากันหลงยึดติดได้แล้ว เป็นผู้มีจักษุ
ปฏิบัติปฏิปทาของมุนี
ก็จะข้ามพ้นความทะยานอยากในปัจจัยซึ่งเป็นดุจเหวลึกนี้ได้
[713] มุนีควรเป็นผู้มีท้องพร่อง ฉันอาหารแต่พอประมาณ
มีความปรารถนาน้อย ปราศจากความละโมบ
หมดความกระหายหิวด้วยความอยาก ไม่มีความอยากอีกต่อไป
ดับความเร่าร้อนได้ตลอดกาล

เชิงอรรถ :
1 อารมณ์สูงต่ำ หมายถึงอิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา) และอนิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) (ขุ.สุ.อ.
2/709/324)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :668 }