เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 10. โกกาลิกสูตร
[678] สัตว์นรกผู้ทำกรรมชั่วหยาบไว้ประจำ
ย่อมหมกไหม้อยู่ในน้ำที่มีหมู่หนอนยั้วเยี้ยในโลหกุมภี
นรกแต่ละขุมนั้น ๆ ไม่มีฝั่งที่จะให้ขึ้นอาศัยเลย
เพราะมีกระทะครอบอยู่อย่างมิดชิดรอบทุกทิศ
[679] ยังมีป่าไม้ที่มีใบคม เหมือนดาบขึ้นอยู่ทั่วไป
ซึ่งพวกสัตว์นรกเข้าไปก็จะถูกตัดลำตัวขาดทันที
นายนิรยบาลก็จะเอาเบ็ดเกี่ยวลิ้น
ทรมานด้วยการดึงออกมาเรื่อย ๆ
[680] ต่อจากนั้น สัตว์นรกนั้นต้องตกนรกน้ำกรดซึ่งเป็นแอ่ง
ถูกคมมีดโกนคมกริบกรีดตามตัว
สัตว์ที่โง่เขลาชอบทำบาปไว้มาก
จึงต้องตกลงไปบนคมมีดโกนนั้น
[681] เพราะได้เคยก่อกรรมทำเข็ญไว้
สัตว์นรกจึงถูกสุนัขดำด่าง
และสุนัขจิ้งจอกรุมทึ้งกัดกิน ร้องคร่ำครวญอยู่ในที่นั้น ๆ
ซ้ำยังถูกฝูงแร้ง กา และนกตะกรุมรุมทึ้งจิกกินอีก
[682] คนผู้ชอบทำกรรมชั่วหยาบเป็นประจำ ต้องรู้แก่ใจว่า
การดำรงอยู่ในนรกนี้ทุกข์ยากลำบากจริง ๆ
เพราะฉะนั้น นรชนจึงควรรีบทำกิจที่ควรทำแต่ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่นี้
และไม่ควรประมาท
[683] เกวียนบรรทุกงาที่ผู้รู้ทั้งหลายนับคำนวณ
แล้วนำเข้าไปเปรียบกับอายุสัตว์ที่เกิดในปทุมนรก
ก็ได้เท่ากับ 51,200 โกฏิ
[684] สัตว์นรกทั้งหลาย ต้องอยู่ในนรกซึ่งมีทุกข์มากมาย
ตามที่เรากล่าวไว้ในที่นี้ ตลอดระยะเวลายาวนาน
เพราะฉะนั้น บุคคลควรกำหนดรักษาวาจาใจให้เป็นปกติ
ในท่านผู้บริสุทธิ์ มีศีลเป็นที่รัก และมีคุณงามความดี
โกกาลิกสูตรที่ 10 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :662 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 11. นาลกสูตร
11. นาลกสูตร
ว่าด้วยนาลกดาบสทูลถามปัญหา
[685] อสิตฤๅษีอยู่ในที่พักกลางวัน ได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ
และทวยเทพชั้นดาวดึงส์มีใจชื่นชมโสมนัส
ยกผ้าทิพย์ขึ้นชมเชยอยู่มิได้ขาด
ณ ที่สถิตอันสะอาด
[686] ครั้นเห็นแล้วจึงทำความนอบน้อม
พลางถามเทวดาทั้งหลายผู้มีใจเบิกบานในที่นั้นว่า
เพราะเหตุไร ทวยเทพจึงดีใจอย่างล้นเหลือ
เพราะอาศัยอะไร ท่านทั้งหลายจึงยกผ้าทิพย์ขึ้นแล้วรื่นเริงอยู่เช่นนี้
[687] แม้คราวที่เกิดสงครามกับพวกอสูร ทวยเทพได้ชัยชนะ
เหล่าอสูรปราชัย อาการดีใจขนลุกขนพองสยองเกล้าเช่นนี้ก็มิได้มี
เทวดาทั้งหลายได้เห็นเหตุอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน
จึงพากันเบิกบานสำราญใจมากมายเช่นนี้
[688] ทวยเทพเปล่งเสียงชมเชยขับร้องบรรเลงดนตรี
ปรบมือฟ้อนรำกันอยู่
ข้าพเจ้าขอถามท่านทั้งหลายผู้อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุว่า
ท่านผู้ไร้ทุกข์ทั้งหลาย
ขอพวกท่านจงช่วยกันขจัดความสงสัยของข้าพเจ้า
ให้สิ้นไปโดยเร็วเถิด
(เทวดาทั้งหลายกล่าวตอบดังนี้)
[689] พระโพธิสัตว์ผู้เป็นรัตนะอันประเสริฐ ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ได้บังเกิดแล้วในมนุษยโลก ที่ป่าลุมพินีวัน
ในคามชนบทของเจ้าศากยะทั้งหลาย
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข
เพราะเหตุนั้น เราทั้งหลายจึงพากันยินดีเบิกบานใจอย่างล้นเหลือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :663 }