เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 10. โกกาลิกสูตร
คน 2 จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้วมีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า
[668] บุคคลใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย
เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้
ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลม ฉะนั้น1
[669] ผู้หมกมุ่นในความโลภต่าง ๆ ไม่มีศรัทธา
มีนิสัยหยาบกระด้าง ไม่รู้พุทธพจน์
มีความตระหนี่ ชอบพูดส่อเสียด
ย่อมใช้วาจากล่าวร้ายผู้อื่น
[670] โกกาลิกะผู้มีปากเป็นหล่ม ชอบพูดเท็จ
ไม่ใช่คนดี ชอบกำจัดความเจริญของตน
เป็นคนชั่ว ชอบทำแต่กรรมชั่ว
เป็นคนต่ำช้า เป็นคนอาภัพ เป็นอวชาตบุตร
เธออย่าพูดมากในที่นี้ อย่าต้องเป็นสัตว์นรกเลย
[671] เธอย่อมเกลี่ยธุลีคือกิเลสลงใส่ตน
ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองเลย
เธอชอบทำกรรมหยาบช้าแล้ว ยังติเตียนสัตบุรุษ
เธอประพฤติทุจริตมากมาย
ต้องไปเกิดในมหานรกเป็นเวลายาวนานแน่นอน
[672] กรรม2ของใคร ๆ ย่อมไม่สูญหายไปไหน
เขาต้องได้รับผลกรรมนั้น และเป็นเจ้าของกรรมนั้น

เชิงอรรถ :
1 ดูธรรมบท ข้อ 125 หน้า 70 ในเล่มนี้
2 กรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรม และอกุศลกรรม (ขุ.สุ.อ. 2/672/309)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :660 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 10. โกกาลิกสูตร
คนโง่เขลาผู้ชอบทำกรรมชั่วหยาบ
จะประสบทุกข์ที่ตนได้รับในปรโลก
[673] ผู้ทำกรรมชั่วย่อมเข้าถึงสถานที่ที่นายนิรยบาล
เอาขอเหล็กอันคมกริบมาเกี่ยวไว้
ถูกหลาวเหล็กอันคมกริบเสียบไว้
และมีก้อนเหล็กแดงโชติช่วงเป็นอาหาร
ตามสมควรแก่ความชั่ว ตามสมควรแก่กรรมชั่วที่ตนทำไว้
[674] นายนิรยบาลทั้งหลายเมื่อพูดกับสัตว์นรก ก็พูดไม่ไพเราะ
สัตว์นรกเหล่านั้นจะวิ่งหนีไปก็ไม่ได้
จะเข้าไปขอความช่วยเหลือก็ไม่ได้
จึงนอนอยู่บนถ่านเพลิงอันลาดไว้
เข้าไปสู่กองไฟอันลุกโพลง
[675] นายนิรยบาลเอาข่ายเหล็กพันสัตว์นรก
แล้วทุบด้วยฆ้อนเหล็กในที่นั้น ๆ
สัตว์นรกทั้งหลายเข้าไปสู่นรกหมอกควันที่มืดทึบ
ซึ่งปกคลุมอบอวลไปทั่วดุจกลุ่มหมอก
[676] ต่อจากนั้น สัตว์นรกเหล่านั้น
ก็เข้าไปสู่โลหกุมภีนรกที่มีเปลวไฟลุกโพลง
ลอยวนขึ้นลงพร้อมกับถูกไฟไหม้อยู่
ในหม้อเหล็กที่ติดไฟลุกนั้นเป็นเวลานานแสนนาน
[677] สัตว์นรกผู้ทำกรรมชั่วหยาบไว้ประจำ
จะพลิกหนีไปทางทิศใด ๆ
ก็ถูกไฟตามเผาไหม้อยู่
ในหม้อเหล็กร้อนแดงที่ปนด้วยหนองและเลือด
ได้รับทุกข์ระกำลำบาก
ซ้ำยังแปดเปื้อนหนองและเลือดอยู่ในโลหกุมภีนรกนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :661 }