เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 10. โกกาลิกสูตร
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[663] ผรุสวาจา(คำหยาบ)เป็นเหมือนผึ่ง1
เครื่องตัดตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว
ย่อมเกิดที่ปากของคนพาล
[664] ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรติเตียน
หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าสั่งสมความผิดไว้ด้วยปาก
ย่อมไม่ประสบความสุข เพราะความผิดนั้น
[665] การปราชัยด้วยทรัพย์
ในการเล่นการพนันจนหมดตัวนี้
เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย
แต่การที่บุคคลมีใจประทุษร้าย
ในบุคคลผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้เท่านั้น
เป็นความผิดมากกว่า
[666] บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจอันชั่ว
ติเตียนพระอริยะย่อมเข้าถึงนรก
สิ้น 136,000 นิรัพพุทกัป
กับอีก 5 อัพพุทกัป
[667] คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
‘ฉันไม่ได้ทำ’ ต่างก็ตกนรก2

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “ผึ่ง” หมายถึงชื่อเครื่องมือสำหรับถากไม้ชนิดหนึ่ง รูปคล้ายจอบ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตย-
สถาน พ.ศ.2525)
2 ดู ธรรมบท ข้อ 306 หน้า 128, อุทาน ข้อ 38 หน้า 248, อิติวุตตกะ ข้อ 48 หน้า 399

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :659 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 10. โกกาลิกสูตร
คน 2 จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้วมีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า
[668] บุคคลใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย
เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้
ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลม ฉะนั้น1
[669] ผู้หมกมุ่นในความโลภต่าง ๆ ไม่มีศรัทธา
มีนิสัยหยาบกระด้าง ไม่รู้พุทธพจน์
มีความตระหนี่ ชอบพูดส่อเสียด
ย่อมใช้วาจากล่าวร้ายผู้อื่น
[670] โกกาลิกะผู้มีปากเป็นหล่ม ชอบพูดเท็จ
ไม่ใช่คนดี ชอบกำจัดความเจริญของตน
เป็นคนชั่ว ชอบทำแต่กรรมชั่ว
เป็นคนต่ำช้า เป็นคนอาภัพ เป็นอวชาตบุตร
เธออย่าพูดมากในที่นี้ อย่าต้องเป็นสัตว์นรกเลย
[671] เธอย่อมเกลี่ยธุลีคือกิเลสลงใส่ตน
ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองเลย
เธอชอบทำกรรมหยาบช้าแล้ว ยังติเตียนสัตบุรุษ
เธอประพฤติทุจริตมากมาย
ต้องไปเกิดในมหานรกเป็นเวลายาวนานแน่นอน
[672] กรรม2ของใคร ๆ ย่อมไม่สูญหายไปไหน
เขาต้องได้รับผลกรรมนั้น และเป็นเจ้าของกรรมนั้น

เชิงอรรถ :
1 ดูธรรมบท ข้อ 125 หน้า 70 ในเล่มนี้
2 กรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรม และอกุศลกรรม (ขุ.สุ.อ. 2/672/309)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :660 }