เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 10. โกกาลิกสูตร
มรณภาพลงแล้วได้ไปเกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในท่านพระสารีบุตรและ
ท่านพระโมคคัลลานะ
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป1 ท้าวสหัมบดีพรหมมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมี
ให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืน
อยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
โกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้วไปเกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในท่านพระสารีบุตร
และท่านพระโมคคัลลานะ”
ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
กระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นแล
ครั้นคืนนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป ท้าวสหัมบดีพรหม ฯลฯ ภิกษุ
ทั้งหลาย ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็กระทำประทักษิณแล้วหายไป
ณ ที่นั้นแล”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้เแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ประมาณอายุในปทุมนรกนานเท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ประมาณอายุในปทุมนรกนานมาก ประมาณ
อายุในปทุมนรกนั้น ยากที่จะนับได้ว่า ‘ประมาณเท่านี้ปี ประมาณ 100 ปีเท่านี้
ประมาณ 1,000 ปีเท่านี้ ประมาณ 100,000 ปีเท่านี้”
ภิกษุนั้นทูลถามอีกว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์พอจะยกอุปมาได้
หรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 4 หน้า 6 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :657 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 10. โกกาลิกสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ได้ ภิกษุ” แล้วตรัสว่า “ภิกษุ หนึ่งเกวียน
เมล็ดงาของชาวโกศลมีอัตรา 20 ขารี1 ล่วงไปแล้ว 100,000 ปี บุรุษจึงนำ
เมล็ดงาออกจากเกวียนนั้น 1 เมล็ด เมล็ดงาหนึ่งเกวียนของชาวโกศลซึ่งมีอัตรา
20 ขารีนั้น จะพึงหมดไปโดยทำนองนี้เร็วกว่า แต่ว่า 1 อัพพุทนรก2หาหมด
ไปไม่ 20 อัพพุทนรก เป็น 1 นิรัพพุทนรก 20 นิรัพพุทนรก เป็น 1 อพพนรก
20 อพพนรก เป็น 1 อหหนรก 20 อหหนรก เป็น 1 อฏฏนรก 20 อฏฏนรก
เป็น 1 กุมุทนรก 20 กุมุทนรก เป็น 1 โสคันธิกนรก 20 โสคันธิกนรก เป็น
1 อุปปลกนรก 20 อุปปลกนรก เป็น 1 ปุณฑรีกนรก 20 ปุณฑรีกนรก เป็น
1 ปทุมนรก
ภิกษุ โกกาลิกภิกษุนี้เกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในสารีบุตรและ
โมคคัลลานะ”

เชิงอรรถ :
1 ขารี เป็นชื่อมาตราตวงชนิดหนึ่งของอินเดียโบราณ มีลำดับมาตราดังนี้
4 กุฑุวะ หรือปสตะ(ฟายมือ) เป็น 1 ปัตถะ (กอบ)
4 ปัตถะ เป็น 1 อาฬหกะ
4 อาฬหกะ เป็น 1 โทณะ
4 โทณะ เป็น 1 มาณิกา
4 มาณิกา เป็น 1 ขารี
20 ขารี เป็น 1 เกวียน
(ขุ.สุ.อ. 2/662/307, อภิธา. ฏีกา คาถา 480-494)
2 อัพพุทนรก นิรัพพุทนรก อพพนรก อหหนรก อฏฏนรก กุมุทนรก โสคันธิกนรก อุปปลกนรก ปุณฑรีกนรก
ปทุมนรก ทั้งหมดนี้อยู่ในอเวจีมหานรก เป็นนรกเล็กอยู่ในนรกใหญ่ ไม่มีภูมิเป็นของตนเอง แต่เป็นที่ซึ่ง
สัตว์จะต้องรับกรรม เช่น อัพพุทนรก เป็นสถานที่ทรมานสัตว์โดยการนับชิ้นเนื้อเป็นเครื่องบอกระยะ
เวลาในการทรมานสัตว์ (องฺ.ทสก.อ. 3/89/366, ขุ.สุ.อ. 2/662/307)
อนึ่ง นรกเหล่านี้ปรากฏชื่อตามจำนวนสังขยา อรรถกถาให้นัยไว้ว่า นรกเหล่านี้มีวิธีนับระยะเวลาปี
ของอัพพุทนรกเป็นตัวอย่างดังนี้ คือ
10,000,000 ปี เป็น 1 โกฏิ-ปี
10,000,000 โกฏิ-ปี เป็น 1 ปโกฏิ-ปี
10,000,000 ปโกฏิ-ปี เป็น 1 โกฏิปโกฏิ-ปี
10,000,000 โกฏิปโกฏิ-ปี เป็น 1 นหุต-ปี
10,000,000 นหุต-ปี เป็น 1 นินนหุต-ปี
10,000,000 นินนหุต-ปี เป็น 1 อัพพุทะ-ปี
ต่อจากอัพพุทะไปใช้ 1 x 20 เช่น 20 อัพพุทะ (1 อัพพุทะ x 20) ได้เท่ากับ 1 นิรัพพุทะ เป็นต้น
(ขุ.สุ.อ. 2/662/307, กัจ. 5/8/395)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :658 }