เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 9. วาเสฏฐสูตร
[636] ผู้ไม่มุ่งร้ายในหมู่คนผู้มุ่งร้าย
ผู้สงบในหมู่คนผู้ชอบหาเรื่องใส่ตน
ผู้ไม่ถือมั่นในหมู่คนผู้ถือมั่น
เราเรียกว่า พราหมณ์
[637] ผู้ใดทำราคะ โทสะ โมหะ มานะ และมักขะให้ตกไป
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[638] ผู้กล่าวคำที่ไม่หยาบคาย สื่อความหมายได้
เป็นคำจริง ไม่เป็นเหตุให้ใคร ๆ ขัดเคือง
เราเรียกว่า พราหมณ์
[639] ผู้ใดในโลกนี้ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
ไม่ว่ายาวหรือสั้น เล็กหรือใหญ่ งามหรือไม่งาม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[640] ผู้ใดไม่มีความหวังในโลกนี้และโลกหน้า
ปราศจากความหวัง ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[641] ผู้ใดไม่มีความอาลัย หมดความสงสัยเพราะรู้ชัด
หยั่งลงสู่อมตะ บรรลุแล้ว
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[642] ผู้ใดในโลกนี้ละบุญและบาปทั้งสองได้
พ้นจากกิเลสเครื่องข้องได้ ไม่เศร้าหมอง
ปราศจากกิเลสดุจธุลี เป็นผู้บริสุทธิ์
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[643] ผู้บริสุทธิ์ดุจจันทร์แจ่ม
มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัว
เป็นผู้สิ้นความยินดีในภพ
เราเรียกว่า พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :651 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 9. วาเสฏฐสูตร
[644] ผู้ใดก้าวพ้นทางอ้อม1ทางหล่ม2
สงสาร และโมหะได้แล้ว
ข้ามไปถึงฝั่งแล้ว เจริญฌาน
ไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย
ดับเย็น เพราะไม่ถือมั่น
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[645] ผู้ใดในโลกนี้ละกามได้แล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นกามและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[646] ผู้ใดในโลกนี้ละตัณหาได้เด็ดขาด
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นตัณหาและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[647] ผู้ละกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์ได้3
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นทิพย์ได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากโยคะทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[648] ผู้ละทั้งความยินดี4 และความไม่ยินดี5
เป็นผู้เยือกเย็น หมดอุปธิกิเลส

เชิงอรรถ :
1 ทางอ้อม ในที่นี้หมายถึงราคะ (ขุ.สุ.อ. 2/644/299)
2 ทางหล่ม ในที่นี้หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ. 2/644/299)
3 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 166 ในเล่มนี้
4 ดูเชิงอรรถที่ 3 หน้า 166 ในเล่มนี้
5 ดูเชิงอรรถที่ 4 หน้า 166 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :652 }