เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 8. สัลลสูตร
[584] มนุษย์ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โง่ และฉลาด ทั้งหมด
ย่อมไปสู่อำนาจความตาย มีความตายรออยู่ข้างหน้า
[585] เมื่อมนุษย์เหล่านั้นถูกความตายครอบงำอยู่
กำลังจะจากโลกนี้ไปสู่ปรโลก
บิดาก็ต้านทานบุตรไว้ไม่ได้
หรือหมู่ญาติก็ต้านทานญาติไว้ไม่ได้
[586] เมื่อพวกญาติ กำลังเพ่งมองดูอยู่
รำพันกันเป็นอันมากอยู่นั่นแหละว่า จงดูสัตว์แต่ละตน ๆ
ถูกความตายนำไป เหมือนโคถูกนำไปฆ่า ฉะนั้น
[587] สัตว์โลกถูกความแก่และความตายครอบงำอยู่อย่างนี้1
เพราะฉะนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายทราบชัด
ความเป็นจริงของสัตว์โลกแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก
[588] ท่านไม่รู้ทางของผู้มาหรือผู้ไป
เมื่อไม่เห็นที่สุดทั้ง 2 นี้ ถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์
[589] หากผู้ที่หลงคร่ำครวญ เบียดเบียนตนอยู่
จะพึงนำประโยชน์อะไรมาได้บ้าง
บัณฑิตผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ก็จะพึงกระทำเช่นนั้นบ้าง2
[590] บุคคลจะได้รับความสงบใจ เพราะการร้องไห้
เพราะความเศร้าโศกก็หาไม่
ทุกข์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้นยิ่งขึ้น
และร่างกายของเขามีแต่จะซีดเซียวลง

เชิงอรรถ :
1 ข้อ 582-587 ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) 29/39/142-147, ขุ.ชา (แปล) 28/119/201
2 ดู ขุ.ชา. (แปล) 27/90/369

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :642 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 8. สัลลสูตร
[591] ผู้ที่เบียดเบียนตนเอง ย่อมจะซูบผอม ไม่ผ่องใส
สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปสู่ปรโลก
หาคุ้มครองตนอยู่ด้วยการคร่ำครวญนั้นได้ไม่
ฉะนั้น การคร่ำครวญจึงเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์1
[592] ผู้ทอดถอนใจถึงคนที่ตายไปแล้วอยู่เสมอ
บรรเทาความเศร้าโศกไม่ได้
ตกอยู่ในอำนาจแห่งความเศร้าโศก
ย่อมได้รับทุกข์มากขึ้น
[593] ท่านจงดูแม้คนเหล่าอื่นผู้ใกล้จะตายไปตามกรรม
และสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ผู้ตกอยู่ในอำนาจมัจจุราช
ต่างพากันดิ้นรนอยู่ทั้งนั้น
[594] อาการใด ๆ ที่สัตว์ทั้งหลายสำคัญหมาย
อาการนั้น ๆ ย่อมแปรผันเป็นอื่นไป2
การพลัดพรากจากกันและกันเช่นนี้ มีอยู่เป็นประจำ
ท่านจงพิจารณาดูความเป็นจริงของสัตว์โลกเถิด
[595] บุคคลแม้จะดำรงชีวิตอยู่ถึง 100 ปี
หรือเกินไปบ้างก็ตาม ก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ
และต้องละทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้แน่นอน
[596] เพราะฉะนั้น บุคคลฟังธรรมเทศนาของพระอรหันต์แล้ว
เห็นคนล่วงลับดับชีวิตไป กำหนดรู้ว่าผู้ล่วงลับดับชีวิตไปนั้น
ไม่สามารถฟื้นคืนชีวิตอยู่ร่วมกับเราได้อีก
ควรกำจัดความคร่ำครวญ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) 27/91/369
2 หมายถึงที่หวังไว้ว่า ‘ขอให้มีอายุยืน’ ก็กลับกลายเป็นสิ่งตรงข้ามคือตายไป และที่หวังไว้ว่า ‘ขอให้ไม่มีโรค’
ก็กลับกลายมีโรค เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 2/594/289)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :643 }