เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 8. สัลลสูตร
[579] ภิกษุ 300 รูปนี้ ยืนประนมมือกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแกล้วกล้า
ขอพระองค์โปรดเหยียดพระยุคลบาทออกมาเถิด
ขอเชิญท่านผู้ประเสริฐทั้งหลาย
ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระศาสดาเถิด
เสลสูตรที่ 7 จบ

8. สัลลสูตร
ว่าด้วยลูกศรคือกิเลส
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แก่อุบาสกคนหนึ่งผู้โศกเศร้าเพราะบุตรตาย
ด้วยพระคาถาดังนี้)
[580] ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้
ไม่มีนิมิต1 ใคร ๆ รู้ไม่ได้ ทั้งลำบาก
สั้นนิดเดียว และประกอบด้วยทุกข์
[581] วิธีที่สัตว์ผู้เกิดมาแล้วจะไม่ตายย่อมไม่มี
แม้จะอยู่ไปจนถึงชรา ก็จะต้องถึงแก่ความตาย
เพราะสัตว์ทั้งหลายมีความตายอย่างนี้เป็นธรรมดา
[582] สัตว์ที่เกิดมาแล้ว มีภัยจากความตายเป็นนิตย์
เหมือนผลไม้สุกแล้วมีภัยจากการหล่นไปในเวลาเช้า ฉะนั้น
[583] ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำไว้ทั้งหมด
มีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นฉันนั้น

เชิงอรรถ :
1 ไม่มีนิมิต หมายถึงไม่มีกิริยาอาการบ่งบอกว่าจะตาย (ขุ.สุ.อ. 2/580/284)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :641 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 8. สัลลสูตร
[584] มนุษย์ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โง่ และฉลาด ทั้งหมด
ย่อมไปสู่อำนาจความตาย มีความตายรออยู่ข้างหน้า
[585] เมื่อมนุษย์เหล่านั้นถูกความตายครอบงำอยู่
กำลังจะจากโลกนี้ไปสู่ปรโลก
บิดาก็ต้านทานบุตรไว้ไม่ได้
หรือหมู่ญาติก็ต้านทานญาติไว้ไม่ได้
[586] เมื่อพวกญาติ กำลังเพ่งมองดูอยู่
รำพันกันเป็นอันมากอยู่นั่นแหละว่า จงดูสัตว์แต่ละตน ๆ
ถูกความตายนำไป เหมือนโคถูกนำไปฆ่า ฉะนั้น
[587] สัตว์โลกถูกความแก่และความตายครอบงำอยู่อย่างนี้1
เพราะฉะนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายทราบชัด
ความเป็นจริงของสัตว์โลกแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก
[588] ท่านไม่รู้ทางของผู้มาหรือผู้ไป
เมื่อไม่เห็นที่สุดทั้ง 2 นี้ ถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์
[589] หากผู้ที่หลงคร่ำครวญ เบียดเบียนตนอยู่
จะพึงนำประโยชน์อะไรมาได้บ้าง
บัณฑิตผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ก็จะพึงกระทำเช่นนั้นบ้าง2
[590] บุคคลจะได้รับความสงบใจ เพราะการร้องไห้
เพราะความเศร้าโศกก็หาไม่
ทุกข์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้นยิ่งขึ้น
และร่างกายของเขามีแต่จะซีดเซียวลง

เชิงอรรถ :
1 ข้อ 582-587 ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) 29/39/142-147, ขุ.ชา (แปล) 28/119/201
2 ดู ขุ.ชา. (แปล) 27/90/369

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :642 }