เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 6. สภิยสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[540] สภิยะ บุคคลผู้สดับแล้ว รู้ยิ่งธรรมทั้งปวง
ครอบงำธรรมทั้งที่มีโทษและไม่มีโทษต่าง ๆ มีอยู่ในโลกได้
หมดความสงสัย มีจิตหลุดพ้น
ไม่มีความทุกข์ในธรรมทั้งปวง1
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีสุตะ
[541] บุคคลผู้มีปัญญา ตัดอาลัยและอาสวะได้แล้ว
ไม่ถือกำเนิดเกิดในครรภ์อีก
ละสัญญา 3 อย่าง และละเปือกตมคือกามได้
ไม่กลับมาสู่กัป2อีก
บัณฑิตเรียกว่า อริยะ
[542] ในศาสนานี้ บุคคลผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุเพราะจรณะ3
เป็นผู้ฉลาด รู้ธรรมได้ในกาลทุกเมื่อ
ไม่ข้องอยู่ในธรรมทั้งปวง
มีจิตหลุดพ้นแล้ว ไม่มีปฏิฆะ
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีจรณะ
[543] บุคคลผู้กำจัดธรรมที่มีทุกข์เป็นวิบากซึ่งมีอยู่
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้แล้ว
ประพฤติตนอยู่ด้วยปัญญาพิจารณา

เชิงอรรถ :
1 ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงขันธ์ และอายตนะ เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 2/540/258)
2 กัป ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. 2/541/258)
3 จรณะ หมายถึงความประพฤติ,ปฏิปทา ในที่นี้หมายถึงจรณะ 15 คือ (1) สีลสัมปทา (ความถึงพร้อม
ด้วยศีล) (2) อินทรียสังวร (การสำรวมอินทรีย์) (3) โภชเนมัตตัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการ
บริโภค (4) ชาคริยานุโยค (การหมั่นประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น) (5) ศรัทธา (6) หิริ
(7) โอตตัปปะ (8) ความเป็นพหูสูต (9) วิริยารัมภะ (ปรารภความเพียร) (10) ความมีสติมั่นคง
(11) ปัญญา (12) ปฐมฌาน (13) ทุติยฌาน (14) ตติยฌาน (15) จตุตถฌาน (ม.ม. (แปล) 13/23-26/
26-30, ขุ.สุ.อ. 2/542/259)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :626 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 6. สภิยสูตร
และละมายา มานะ โลภะ และโกธะได้หมดสิ้น
ทำนามรูปให้สิ้นสุดลงได้
บัณฑิตเรียกว่า ปริพาชก
ผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุ
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดีใจ
เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ลุกจากที่นั่ง ทำผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประคอง
อัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วได้สดุดีพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาที่เหมาะสม
เฉพาะพระพักตร์ว่า
[544] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน
พระองค์ทรงกำจัดมิจฉาทิฏฐิ 3 และมิจฉาทิฏฐิ 60
ที่อาศัยคัมภีร์เป็นหลักการของพวกสมณะลัทธิอื่น
ซึ่งอาศัยอักษรสื่อความหมาย และสัญญาที่วิปริต
ทรงก้าวพ้นความมืดคือโอฆะได้แล้ว
[545] พระองค์ทรงเป็นผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เป็นผู้ถึงฝั่ง
ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้าพระองค์ตระหนักในพระองค์ว่า มีอาสวะสิ้นแล้ว
พระองค์ทรงมีความรุ่งเรือง มีความรู้ มีปัญญามาก
ได้ทรงแนะนำข้าพระองค์ผู้ทำที่สุดทุกข์ให้ข้ามได้แล้ว
[546] เพราะพระองค์ได้ทรงทราบปัญหาที่ข้าพระองค์สงสัย
ทรงช่วยให้ข้าพระองค์ข้ามพ้นความลังเลใจ
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพระมุนี
ผู้ทรงบรรลุธรรมที่ควรบรรลุในแนวทางของมุนี
ไม่มีกิเลสฝังแน่นพระทัย
ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ผู้ทรงสงบเสงี่ยมอย่างยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :627 }