เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 6. สภิยสูตร
มีปัญญาบริสุทธิ์ ก้าวพ้นธรรมดำและธรรมขาว1ได้แล้ว
เป็นผู้คงที่ ผู้ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า บัณฑิต
[533] บุคคลรู้ธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
ทั้งภายในและภายนอกในโลกทั้งปวง
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจข่ายได้แล้ว
ควรได้รับความเคารพบูชาจากเทวดาและมนุษย์
บุคคลนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า มุนี2
ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ
ต่อไปว่า
[534] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้จบเวท
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้รู้ตาม
บุคคลประพฤติตนอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีความเพียร
และบุคคลตัดอะไรได้ บัณฑิตจึงเรียกว่า บุรุษอาชาไนย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[535] สภิยะ บุคคลเลือกเฟ้นเวท3ทั้งสิ้น
ของสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่มีอยู่
ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง
ก้าวล่วงเวททั้งปวงได้แล้ว
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ผู้จบเวท4

เชิงอรรถ :
1 ธรรมดำและธรรมขาว หมายถึงบาปและบุญ (ขุ.สุ.อ. 2/532/255)
2 ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) 30/21/129
3 เวท ในที่นี้หมายถึงศาสตร์ความรู้ของสมณพราหมณ์ทั้งหมด (ขุ.สุ.อ. 2/535/255)
4 เวท ในที่นี้หมายถึงมัคคญาณ 4 (ขุ.สุ.อ. 2/535/255)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :624 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 6. สภิยสูตร
[536] บุคคลพิจารณารู้เท่าทันกิเลสเครื่องเนิ่นช้า
และนามรูปภายในตน
และกิเลสอันเป็นมูลเหตุแห่งโรคในภายนอก
เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นมูลเหตุแห่งโรคทั้งปวง
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า ผู้รู้ตาม
[537] ในโลกนี้ บุคคลผู้งดเว้นบาปทั้งหมด
ล่วงพ้นทุกข์ในนรก มีความเพียร
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีความเพียร
มีความมุ่งมั่น เป็นนักปราชญ์
[538] บุคคลตัดเครื่องผูก1อันเป็นมูลเหตุแห่งกิเลสเครื่องข้อง
ทั้งภายในและภายนอกได้แล้ว
เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูก
อันเป็นมูลเหตุแห่งกิเลสเครื่องข้องทั้งปวง
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า บุรุษอาชาไนย
ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ
ต่อไปว่า
[539] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีสุตะ
บัณฑิตเรียกบุคคลว่า อริยะ ด้วยอาการอย่างไร
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีจรณะ
และบุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ปริพาชก
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
1 เครื่องผูก ในที่นี้หมายถึงกิเลสทั้งหลาย มีราคะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 2/538/257)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :625 }