เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 6. สภิยสูตร
[521] บุคคลผู้วางเฉยในอารมณ์ทั้งปวง มีสติ
ไม่เบียดเบียนสัตว์ไร ๆ ในโลกทั้งหมด
เป็นผู้ข้ามโอฆะได้ เป็นผู้สงบ
มีจิตไม่ขุ่นมัว ไม่มีกิเลสฟุ้งซ่าน
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ผู้สงบเสงี่ยม
[522] บุคคลใดอบรมอินทรีย์ทั้งหลายได้แล้วในโลกทั้งปวง
ทั้งภายในและภายนอก รู้ชัดทั้งโลกนี้และโลกหน้า
รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น
บุคคลนั้นผู้อบรมตนแล้วเช่นนี้
บัณฑิตเรียกว่า ผู้ฝึกตนแล้ว1
[523] บุคคลผู้พิจารณากิเลสเครื่องกำหนดจิตทั้งสิ้น
รู้ชัดสังสารวัฏทั้ง 2 ส่วน คือจุติและอุบัติ
ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลสพอกพูน
เป็นผู้หมดจด บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
บัณฑิตเรียกว่า พุทธะ
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดีใจ
เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า
[524] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า พราหมณ์
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า สมณะ
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้ล้างบาปได้
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า นาคะ2
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) 29/90/282, ขุ.จู. (แปล) 30/18/118
2 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 185 ในเล่มนี้ และดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) 29/80/238, ขุ.จู. (แปล) 30/27/145

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :621 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 6. สภิยสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[525] สภิยะ บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากมลทิน เป็นผู้ประเสริฐ
มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง
ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์ครบถ้วน
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้คงที่
บุคคลนั้นบัณฑิตเรียกว่า พราหมณ์1
[526] บุคคลผู้สงบ ละบุญและบาปได้
เป็นผู้ปราศจากธุลี รู้โลกนี้และโลกหน้า
ล่วงพ้นชาติและมรณะได้แล้ว
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า สมณะ
[527] บุคคลผู้ชำระล้างบาปได้ทั้งหมด
ทั้งภายในและภายนอก ในโลกทั้งปวง2
ไม่กลับมาสู่กัป ในเทวดาและมนุษย์ผู้ยังท่องเที่ยวอยู่ในกัป3
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า ผู้ล้างบาปได้
[528] บุคคลผู้ไม่ทำบาปแม้เล็กน้อยในโลก
สลัดสังโยชน์และเครื่องผูกพันได้ทั้งหมด
ไม่ติดข้องอยู่ในกิเลสเครื่องข้องทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้น
เป็นผู้คงที่ ผู้ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า นาคะ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) 29/25/105, ขุ.จู. (แปล) 30/28/147
2 โลกทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอายตนะทั้งหมด (ขุ.สุ.อ. 2/527/253)
3 กัป ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. 2/527/253)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :622 }