เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 6. สภิยสูตร
6. สภิยสูตร
ว่าด้วยสภิยปริพาชกทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น เทวดาผู้เคยเป็นสาโลหิต1ของสภิยปริพาชกได้ตั้งปัญหา
พร้อมกล่าวว่า “สภิยะ สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใด ถูกท่านถามปัญหาเหล่านี้แล้ว
พยากรณ์ได้ ท่านควรประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้นเถิด”
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกเรียนปัญหาเหล่านั้นในสำนักของเทวดานั้น แล้วเข้า
ไปหาสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ปูรณะ กัสสปะ
มักขลิ โคสาล อชิตะ เกสกัมพล ปกุธะ กัจจานะ สัญชัย เวลัฏฐบุตร นิครนถ์
นาฏบุตร แล้วถามปัญหาเหล่านั้น
ท่านเหล่านั้นถูกถามแล้วไม่สามารถตอบได้ เมื่อตอบไม่ได้ก็แสดงความโกรธ
ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามสภิยปริพาชก
เสียอีก
ต่อมา สภิยปริพาชกมีความคิดดังนี้ว่า “ท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้า
หมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่
คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ ฯลฯ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร
ถูกเราถามปัญหาแล้วไม่สามารถตอบได้ เมื่อตอบไม่ได้ก็แสดงความโกรธ ความ
ขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามเราในข้อนั้นเสียอีก
ถ้าเป็นอย่างนี้ละก็ เราเปลี่ยนเพศเป็นคฤหัสถ์ไปเสพกามเสียดีกว่า”

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “สาโลหิต” ในที่นี้มิใช่เป็นมารดา มิใช่เป็นบิดา แต่เป็นเหมือนมารดา เหมือนบิดา เพราะมี
อัธยาศัยเกื้อกูลต่อกัน (ขุ.สุ.อ. 2/244)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :618 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 6. สภิยสูตร
ต่อมา สภิยปริพาชกกลับคิดขึ้นได้ว่า “พระสมณโคดมนี้ก็เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ
เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดี
เลิศเช่นกัน อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหาเหล่านี้”
แต่แล้ว สภิยปริพาชกกลับคิดเช่นนี้ว่า “ท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลายล้วนเป็น
ผู้เจริญทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ เป็นพระเถระ
เป็นรัตตัญญูบุคคล บวชมานาน เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ
ฯลฯ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร ท่านเหล่านั้นถูกเราถามปัญหาแล้วก็ยังไม่สามารถ
ตอบได้ เมื่อไม่สามารถตอบได้ ก็ยังแสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความ
ไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามเราในข้อนั้นเสียอีก พระสมณโคดม
ถูกเราถามปัญหาเหล่านี้แล้ว จักพยากรณ์ตอบได้อย่างไร เพราะพระสมณโคดม
ยังหนุ่มนัก และออกบวชก็ยังไม่นาน”
หลังจากนั้น สภิยปริพาชกกลับคิดขึ้นได้ว่า “เราไม่ควรดูหมิ่น ไม่ควร
ดูแคลนพระสมณโคดมว่า ยังหนุ่มนัก ความจริง แม้พระสมณโคดมจะยังหนุ่ม
แต่ก็เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปหาพระสมณ-
โคดมแล้วถามปัญหาเหล่านี้ดีกว่า”
ต่อจากนั้น สภิยปริพาชกได้ออกเดินทางมุ่งหน้าไปทางกรุงราชคฤห์ เที่ยวจาริก
ไปโดยลำดับ จนกระทั่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาป-
สถาน เขตกรุงราชคฤห์ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลด้วยคาถาว่า
[516] ข้าพระองค์มีความเคลือบแคลงสงสัย
มุ่งหวังจะทูลถามปัญหา
พระองค์โปรดตรัสตอบปัญหาที่ข้าพระองค์ทูลถามให้สิ้นสงสัย
โปรดพยากรณ์ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมไปตามลำดับ
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :619 }