เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 5. มาฆสูตร
[494] (มาฆมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
แก่ข้าพระองค์ ผู้เป็นคฤหัสถ์ เป็นทานบดี
ควรแก่การขอ ผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่นในโลกนี้ด้วยเถิด
[495] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่ข้องด้วยกิเลส
ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ผู้บริสุทธิ์ครบถ้วน
ผู้ควบคุมตนได้ เที่ยวไปในโลก
[496] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ตัดเครื่องผูกคือสังโยชน์ได้ทั้งหมด
ฝึกตนแล้ว มีจิตหลุดพ้น ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
[497] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้หลุดพ้นจากสังโยชน์ทั้งปวง
ฝึกตนแล้ว มีจิตหลุดพ้น ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
[498] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[499] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :613 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 5. มาฆสูตร
แก่เหล่าชนผู้ไม่มีมายา ไม่มีมานะ
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[500] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ปราศจากโลภะ
ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา ไม่มีความหวัง
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[501] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้มีจิตไม่น้อมไปในตัณหาทั้งหลาย
ข้ามโอฆะได้ ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา เที่ยวไป
[502] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่มีตัณหา1เป็นเหตุให้เกิดภพใหม่
ในโลกไหน ๆ คือในโลกนี้หรือโลกอื่น
[503] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละกามทั้งหลายได้แล้ว
ไม่มีความยึดถือ สำรวมตนดีแล้ว เที่ยวไป
เหมือนกระสวยที่ไปตรง ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยาก ในที่นี้หมายถึง ตัณหา 6 อย่างคือ (1) รูปตัณหา (ความทะยานอยาก
ในรูป) (2) สัททตัณหา (ความทะยานอยากในเสียง) (3) คันธตัณหา (ความทะยานอยากในกลิ่น)
(4) รสตัณหา (ความทะยานอยากในรส) (5) โผฏฐัพพตัณหา (ความทะยานอยากในสิ่งที่ถูกต้องกาย)
(6) ธัมมตัณหา (ความทะยานอยากในอารมณ์ที่เกิดกับใจ) (ขุ.ม. (แปล) 29/3/10, ขุ.สุ.อ. 2/502/239)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :614 }