เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 5. มาฆสูตร
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ความจริง ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี รู้ความ
ประสงค์ของผู้ขอ ควรแก่การขอ ย่อมแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ครั้นแสวงหา
ได้แล้วก็นำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยชอบธรรมแบ่งให้แก่ปฏิคาหกผู้รับทาน 1 คนบ้าง
2 คนบ้าง 3 คนบ้าง 4 คนบ้าง 5 คนบ้าง 6 คนบ้าง 7 คนบ้าง 8 คนบ้าง
9 คนบ้าง 10 คนบ้าง 20 คนบ้าง 30 คนบ้าง 40 คนบ้าง 50 คนบ้าง
100 คนบ้าง มากกว่า 100 คนบ้าง ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์
ให้ทานอย่างนี้ บูชาอย่างนี้ จะได้รับบุญมากไหม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาณพ แน่นอนทีเดียว เมื่อท่านให้ทานอย่างนี้ บูชา
อย่างนี้ ย่อมได้รับบุญมาก มาณพ บุคคลผู้เป็นทายก เป็นทานบดี รู้ความประสงค์
ของผู้ขอ ควรแก่การขอ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ครั้นแสวงหาได้แล้ว
ก็นำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยชอบธรรมแบ่งให้แก่ปฏิคาหกผู้รับทาน 1 คนบ้าง ฯลฯ
100 คนบ้าง มากกว่า 100 คนบ้าง ย่อมได้รับบุญมาก”
ลำดับนั้น มาฆมาณพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาดังนี้
[492] ข้าพระองค์ขอทูลถามท่านพระโคดม
ผู้ทรงเปรื่องปราชญ์ในถ้อยคำ ผู้ทรงผ้ากาสาวพัสตร์
ไม่ทรงยึดมั่น เสด็จเที่ยวไปอยู่ว่า
ในโลกนี้ คฤหัสถ์ผู้ใดเป็นทานบดี ควรแก่การขอ
เป็นผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่น
การบูชาของคฤหัสถ์ผู้นั้นที่ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร
[493] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
มาฆะ ในโลกนี้ คฤหัสถ์ผู้ใดเป็นทานบดี ควรแก่การขอ
เป็นผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่น
คฤหัสถ์ผู้เช่นนั้น พึงยังการบูชาให้สำเร็จได้
ด้วยพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :612 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 5. มาฆสูตร
[494] (มาฆมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
แก่ข้าพระองค์ ผู้เป็นคฤหัสถ์ เป็นทานบดี
ควรแก่การขอ ผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่นในโลกนี้ด้วยเถิด
[495] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่ข้องด้วยกิเลส
ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ผู้บริสุทธิ์ครบถ้วน
ผู้ควบคุมตนได้ เที่ยวไปในโลก
[496] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ตัดเครื่องผูกคือสังโยชน์ได้ทั้งหมด
ฝึกตนแล้ว มีจิตหลุดพ้น ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
[497] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้หลุดพ้นจากสังโยชน์ทั้งปวง
ฝึกตนแล้ว มีจิตหลุดพ้น ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
[498] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[499] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :613 }