เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 4. สุนทริกภารทวาชสูตร
[460] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้)
พราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายด้วยกันเท่านั้น
ที่จะถามว่า ท่านเป็นพราหมณ์หรือไม่
[461] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ถ้าท่านเรียกตัวเองว่าพราหมณ์
แต่มาสนทนากับเราผู้มิใช่พราหมณ์
เพราะฉะนั้น เราจะถามท่านถึงเรื่องสาวิตรีฉันท์1
ที่มี 3 บาท 24 พยางค์
[462] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์เป็นจำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
[463] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราขอชี้แจงว่า บุคคลผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ จบเวท
พึงได้รับเครื่องบูชาในกาลแห่งยัญพิธีของผู้ใด
การประกอบพิธีบูชายัญของผู้นั้น จึงจะสำเร็จผลมาก
[464] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้)
การบูชายัญของข้าพเจ้านั้น ชื่อว่าสำเร็จผลแน่แท้
เพราะได้พบเห็นบุคคล ผู้จบเวทเช่นพระองค์
ก็เพราะยังไม่พบบุคคลผู้ทรงคุณเช่นกับพระองค์
คนอื่น ๆ จึงได้กินเครื่องเซ่น

เชิงอรรถ :
1 สาวิตรีฉันท์ โดยทั่วไปหมายถึงบทสวดในคัมภีร์พระเวท แต่ในที่นี้พระพุทธองค์ทรงหมายเอาอริยสาวิตรี
คือ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ (ขุ.สุ.อ. 2/461/226)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :605 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 4. สุนทริกภารทวาชสูตร
[465] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
พราหมณ์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีความต้องการด้วยประโยชน์นี้
จงเข้ามาถามเถิด ท่านก็จะได้พบบุคคลผู้สงบ
กำจัดความโกรธได้ ไม่มีความทุกข์
ไม่มีความหวัง มีปัญญาดี ในโลกนี้แน่นอน
[466] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้)
ข้าพเจ้ายินดีในการบูชายัญ ปรารถนาที่จะบูชายัญ
แต่ข้าพเจ้ายังไม่รู้ ขอพระองค์โปรดตรัสสอนข้าพเจ้า
โปรดตรัสบอกสถานที่ที่การบูชายัญจะสำเร็จผล
ให้ข้าพเจ้าทราบด้วยเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงตั้งใจฟังเถิด เราจะ
แสดงธรรมแก่ท่าน”
[467] ท่านอย่าถามถึงชาติตระกูลเลย
จงถามเฉพาะธรรมที่ประพฤติเถิด
ไฟย่อมเกิดจากไม้
แม้ผู้ที่เกิดในสกุลต่ำก็สามารถเป็นมุนี
มีปัญญา กีดกันอกุศลวิตกได้ด้วยหิริ
เป็นบุรุษอาชาไนยได้
[468] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่พระทักขิไณยบุคคลผู้ฝึกตนจนบรรลุสัจจะ
สมบูรณ์ด้วยการฝึกอินทรีย์
ผู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[469] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละกามทั้งหลายได้แล้ว ไม่ยึดมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :606 }